วันครู วันเด็ก วันพ่อ วันแม่

972 24 Jan 2024



บทสนทนากับคนรอบตัวของผม พักหลังๆ มักวนเวียนมาที่เรื่องของเด็ก เด็กที่เกเร เด็กที่เหลือขอ ก้าวร้าว เด็กที่สมาธิสั้น เด็กที่ถูกเลี้ยงมาแบบประคบประหงม หรือ สิ่งมีชีวิตที่โตมาแบบชดเชย ความขาดของพ่อแม่ หรือว่ารักแบบ เกินจะอบรม ดุ ด่า ฝึกฝน เคี่ยวเข็ญ

ผมนึกอยากเขียนตั้งแต่ นั่งมองภาพต่างๆ ที่ปรากฏบนไทม์ไลน์ เกี่ยวกับงานวันเด็ก ว่า คนเป็นพ่อแม่ หรือ สังคมส่วนรวม ทำอย่างไร ในคำว่า วันเด็ก มโนภาพใหญ่ๆ กับคำว่า เด็ก ที่หมายถึง สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ต้องสอน สร้าง การเรียนรู้ เพื่อ เป็นคน มีคุณภาพ ในขณะที่โรงเรียน ก็คือ โรงฝึกเด็ก ที่พ่อแม่ ผลักภาระตัวเองมาให้ครู พ่อแม่หลายคนที่มีกำลังจึง พยายามหาโรงเรียน แพงๆ ดีๆ เพราะเชื่อว่า ฝึกฝนเด็ก หรือ ลูกตนได้อย่างมี คุณภาพ (กว่า) โรงเรียนรัฐ หรือ โรงเรียนถูกๆ ตามหมู่บ้าน

แล้วก็นั่งดู คลิป ดูข่าว ดูโพสต์บนไทม์ไลน์  กับภาพงานวันครู วันที่เมาเละเทะ มีดนตรี มีโต๊ะจีน เล่นเกมส์ กีฬา ฯลฯ ทำให้ผมนึก หรือ พยายามจินตนาการถึง มโนภาพ วันครู ว่าครู เขามองอย่างไร และพยายามจะทำอะไร เพื่อบ่งบอก สถานะ ว่าตนนั้นคือ “คุรุ” เราเรียก ผู้ประสาทประสิทธิ์วิชา ว่า คุรุหรือครู และจู่ๆ ผมก็นึกถึง นิทานวัยเยาว์ ที่ตอนเด็กๆ ชอบอ่าน หรือ มักได้ยิน ที่เจ้าชาย ( ลูกกษัตริย์) จะต้องถูกส่งไปเรียนวิชาต่างๆ กับพระเจ้าตา ในป่าลึก ทำไม คุรุ ผู้ปราดเปรื่อง รอบรู้ จึงดำรงตน หรือ อาศัยอาศรม หรือ ศาลา หรือ กระท่อม หลังเล็กๆ ในป่า ทำไมมโนภาพเก่าไว้สอนสั่ง คน สมัยแก่ก่อนเป็นแบบนี้

คุรุ คือสถานะ อะไร เจ้าชาย หรือ บุตรของกษัตริย์ ทำไมต้องลำบากลำบน มาเรียนกับคนธรรมดา ไม่ใช่โรงเรียนเอกชน และทำไมต้องในป่า เขาจะได้เรียนรู้อะไรกับชีวิตบ้านนอกคอกนา กับชาวบ้าน มีอะไรที่มากกว่า ความรู้หรือ วิชาด้วยหรือเปล่า ?


16 ปี กับการกลับมาอยู่บ้าน และใช้ชีวิตดนริ้นไปตามกรอบวิถีคนชนบท  เห็นหลายคนตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ จนเป็นพ่อแม่ เห็นรูปแบบชีวิต ที่เขาดำเนิน เห็นวิธีอบรม สั่งสอน ลูกๆหลานๆของเขา  เห็นความหมายของการมีชีวิต และเห็นเด็กๆ ที่ตั้งแต่แบเบาะ จนเป็นหนุ่มสาวอีกรอบ

หลายวันก่อน ผมขอสนทนากับพนักงานในโรงบ่ม เกี่ยวกับลูกๆของเขา ที่เริ่มหนุ่มสาว เห็นพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆ เห็นชีวิตที่ดิ้นรน และมีเวลาน้อยกับการอบรม สั่งสอน หรือ หาวิธีการ ทั้งการทำความเข้าใจ สภาวะ พฤติกรรม ของเด็กๆ ซึ่งเยอะมาก มีปัญหาเรื่อง สมาธิสั้น สนใจเรียนน้อยลง และขาดแรงจูงใจ ในการสร้างเป้าหมายชีวิต รวมถึง ขาดวินัย ความรับผิดชอบ และการสนใจคนอื่นรอบตัว

เมื่อวานไปแค้มปิ้ง บทสนทนาหนึ่งที่เราคุยกัน ยาวนานและหลายรอบ คือ การดูแลลูกๆ ผมบอกเจ้าหนึ่ง ว่า ทำถูกแล้วที่พาลูกเมียมาด้วย ว่า จงมีชีวิตให้เขาเห็น และให้เขาอยู่กับเราในเรื่องสำคัญ เราทำกับข้าว ผ่าฟืน หาปลา หรือแม้แต่ ดื่มกับเพื่อนๆ สิ่งที่เราพูด พฤติกรรมที่เราแสดงออก เขาจะเห็น ได้ยิน สัมผัส ซึมซับ ไปเรื่อยๆ เราต้องมีพฤติกรรม ต่างๆ เป็นตัวอย่างในบ้าน ส่วนเจ้าตาม ออกตัวว่า “แม่บ้านผมไม่ชอบมาลำบากครับ แต่เขาเข้าใจผมและอนุญาตให้มาครับ”  ผมเลยตอบไปว่า ครั้งต่อไป นอนรีสอร์ตกันดีกว่า ถ้าเขายอมมา นะ เพราะเราควรมีโอกาสพากันมา พบกัน เพื่อไม่ให้เกิดรอยแยก บางอย่าง ในครอบครัว แบบวิถีใครวิถีมันมากเกินไป เหมือนเราควรดูทีวีด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน บางคนว่า นี่คือการให้เกียรติ ก็ถูก แต่เรา ต้องต่างให้เกียรติกันด้วย และการมามีชีวิต กับพื้นที่สมมติ สั้นๆ หรือแค้มปิ้ง ไม่ใช่แค่การเสพสุข ดื่มแดก แต่นี่คือ การได้มาเรียนรู้ คุ้นเคยกันอย่างน้อย ทุกคนได้เห็น ความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ได้ปะทะ ใครเป็นอย่างไร และเราเป็นอย่างไร นี่แหละคือ กระบวนการทางสังคม และอย่างน้อย ลูกๆ ของคุณ ได้รู้จักกัน อาจจะได้เล่นด้วยกัน หรือเป็นเพื่อนกันในอนาคต นั่นคือ การหล่อหลอมเขาเช่นกัน

ทำไมในหัวผม ยังวนเวียนนึกถึงวันครู วันที่ครูกินเหล้า เต้นหน้าฮ้าน ในยุคที่ครู เป็นอาชีพที่ค่าตอบแทน ไม่ได้ต้อยต่ำ มีบ้านหลังใหญ่ มีรถขับเฉียดล้าน   วันเด็ก วันเด็กที่เด็กกินขนม ฟรี มหาศาล พร้อมหอบของเล่นกลับบ้าน
!!  วันพ่อวันแม่ และ ข่าวคดีใหญ่ แก๊งลูกตำรวจ วัยกระเต๊าะ ก่อคดีอาชญากรรม นึกถึง บรรดานักคุ้มครองเด็กออกมา วิพากษ์วิจารณ์ น้ำลายแตกฟอง

วันเหล่านี้ผ่านมาหลายวันแล้ว แต่มันวนเวียน เพราะคำถามในหัวผม คือ เรากำลังตกหล่นอะไร ?  

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม