จดหมายเปิดผนึก ถึงประธานศาลฎีกา

1211 14 Sep 2018

จดหมายเปิดผนึก

วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๑

เรื่อง     ขอให้สถาบันตุลาการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตรวจสอบการใช้อำนาจตามประกาศ/คำสั่ง คสช.

เรียน     ประธานศาลฎีกา

           ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั่วประเทศ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรม ความเป็นธรรมในสังคม และปกป้องสิทธิมนุษยชน  ผ่านการใช้มาตรการทางกฎหมายและการดำเนินคดี รวมถึงการผลักดันนโยบายต่างๆเพื่อให้บรรทัดฐานทางกฎหมายสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม  โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to Fair Trial)

สมาคมฯเห็นว่า สถาบันตุลาการเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยและเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  และช่วยสร้างหลักประกันว่าทุกคนที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล  ฝ่ายตุลาการยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้มีหลักประกันว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายบริหารได้ดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศหรือไม่

ตลอดระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมานับแต่มีรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการออกประกาศและคำสั่งที่จำกัดและละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยอ้างว่ามีฐานะเป็นกฎหมาย หากจะยกเลิกประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวได้จะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ  ตลอดเวลาที่ผ่านมา คสช. ไม่ได้มีท่าทีว่าจะยกเลิกประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้นไปแต่อย่างใด และได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดและคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐอยู่เสมอ อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐไทยเข้าเป็นภาคี โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๑๓/๒๕๕๙ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งคำสั่งทั้งสองฉบับนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไร้ขอบเขตและไร้การตรวจสอบแล้ว ยังถูกนำมาใช้แทนกระบวนการยุติธรรมตามปกติ โดยให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม  รวมถึงมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลได้ถึง ๗ วัน โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ ทำให้หลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกลดทอนลงไปอย่างมาก  กรณีการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลล่าสุดคือ การใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ควบคุมตัวหญิงจำนวน ๒ รายเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๑ ด้วยเหตุว่าทั้งสองใส่เสื้อยืดมีตราสัญลักษณ์ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าสื่อความหมายแบ่งแยกการปกครอง  โดยหนึ่งรายได้รับการปล่อยตัวหลังการควบคุมตัวไปราว ๑๓ ชั่วโมง โดยไม่มีการส่งดำเนินคดี  แต่อีกหนึ่งราย ซึ่งเป็นหญิงที่มีภาระต้องเลี้ยงดูลูกสองคนยังถูกควบคุมตัวอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน (๑๑ กันยายน ๒๕๖๑) และเสี่ยงที่จะถูกควบคุมตัวถึง ๗ วันและอาจถูกนำตัวมาดำเนินคดีต่อไป  ทั้งนี้ ในการควบคุมตัวดังกล่าวเจ้าหน้าที่ไม่มีการแจ้งเหตุในการควบคุมตัว ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยศาล และไม่ให้สิทธิในการพบญาติและทนายความ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ขอเรียนว่า การใช้อำนาจตามคำสั่งดังกล่าวมีความไม่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะขัดต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ องค์กรตุลาการจึงต้องให้ความสำคัญต่อคดีที่เกิดจากผลของการใช้อำนาจตามประกาศและคำสั่ง คสช. ดังกล่าว ด้วยเหตุผลสำคัญดังต่อไปนี้

1.        คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวได้เป็นเวลานานถึง ๗ วัน  เป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๘  กำหนดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ  เช่นเดียวกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)  ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ มีผลใช้บังคับ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐  ข้อ ๙ กำหนดว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย และบุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวไปยังศาลโดยพลันเพื่อให้ตรวจสอบถึงความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมผู้นั้น และหากการควบคุมไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวไป

ตามหลักกฎหมายดังกล่าว ห้ามไว้อย่างชัดเจนว่าการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลจะกระทำโดยอำเภอใจไม่ได้  การควบคุมหรือการคุมขังไม่ว่าในรูปแบบใด ตลอดจนมาตรการอื่นที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล จะกระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งหรือการควบคุมโดยองค์กรศาลหรือองค์กรอื่นภายใต้กฎหมายที่มีหลักประกันความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ ทั้งนี้ สิ่งที่เรียกว่าการดำเนินการตามอำเภอใจนั้น ไม่จำเป็นต้องตีความอย่างแคบว่าเป็น “การละเมิดกฎหมาย” เท่านั้น แต่ควรจะตีความอย่างกว้างครอบคลุมองค์ประกอบด้านความเหมาะสมในการจับกุมควบคุมตัว  เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดและต้องรัดกุมเพียงพอเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจที่กว้างเกินไปหรือโดยอำเภอใจ และข้อกำหนดตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่กำหนดโดยไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ไม่ยุติธรรม หรือไม่สามารถคาดการณ์ได้  นอกจากนี้ การจับกุมหรือควบคุมตามกฎหมายนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ใช้วิธีการที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องชอบด้วยเหตุผล โดยพิจารณาจากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆประกอบด้วย และต้องเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อพฤติการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการหลบหนี การยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือการกระทำผิดขึ้นอีก

ในขณะจับกุม บุคคลที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุมและจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน เจ้าหน้าที่จะต้องให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับสิทธิในการแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ที่ตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมและสถานที่ควบคุมตัวโดยทันที  และมีสิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมและติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก สิทธิดังกล่าวนี้จะต้องไม่ถูกยับยั้งเป็นเวลานาน  หากล่าช้าจะต้องไม่นานเกินไป  แต่อย่างไรก็ดี ผู้ถูกควบคุมตัวต้องสามารถเข้าถึงทนายความได้ไม่ช้ากว่า ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัว  เพราะการไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกหรือทนายความได้เป็นเวลานานอาจทำให้บุคคลนั้นเสี่ยงต่อการถูกปฏิบัติโดยมิชอบ โดยเฉพาะการถูกซ้อมทรมาน 

การใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ นำตัวบุคคลไปควบคุมไว้ โดยที่ผู้ที่ถูกนำตัวไปไม่มีอิสรเสรีภาพที่จะเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ย่อมถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลและเป็นการควบคุมตัวบุคคลไว้ในอำนาจของรัฐ และย่อมถือว่าบุคคลดังกล่าวตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาทางอาญาแล้ว  บุคคลนั้นจึงต้องได้รับสิทธิในฐานะผู้ถูกจับกุมและผู้ต้องหา กล่าวคือมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก  สิทธิที่จะพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว  สิทธิที่จะให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน และสิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร  อย่างไรก็ดี หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าผู้ถูกจับกุมตัวดังกล่าวยังไม่ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาในคดีอาญาไม่ว่าอ้างเหตุผลใดก็ตาม บุคคลดังกล่าวยิ่งต้องได้รับหลักประกันการคุ้มครองสิทธิที่ดียิ่งกว่าและไม่น้อยไปกว่าหลักประกันสิทธิขั้นต่ำที่ผู้ต้องหาทางอาญาจะได้รับ

การที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยไม่มีหมายของศาล ไม่ได้แจ้งเหตุผลและข้อหาที่ถูกจับกุมให้แก่ผู้ถูกจับกุมทราบโดยทันที  การกีดกันไม่ให้พบญาติและทนายความ การควบคุมตัวบุคลไว้เป็นเวลานานเกินกว่า ๔๘ ชั่วโมงและไม่มีการตรวจสอบโดยศาล การปฏิบัติเหล่านี้ย่อมขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองรับรองไว้  ดังนั้น หากต่อมาภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวนั้น ศาลก็ควรให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและป้องกันการใช้อำนาจในลักษณะตามอำเภอใจเช่นนี้อีกในอนาคต

โดยหลักกฎหมายปกติ ผู้ต้องหาในคดีอาญาจะถูกควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง  หากจะควบคุมตัวเกินกว่านั้นจะต้องไปขออำนาจจากศาล ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กำหนดให้ศาลได้เข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความจำเป็นในการควบคุมตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ  ซึ่งหลักกฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องนำตัวผู้ถูกจับกุมไปศาลโดยไม่ชักช้า เพื่อจะได้มีการตรวจสอบและวินิจฉัยว่าการควบคุมตัวนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายและมีความจำเป็นหรือไม่ ถ้าการควบคุมไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่มีเหตุจำเป็นก็ให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวไป องค์กรศาลจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทบทวนหรือตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและเหตุผลในการควบคุมตัวบุคคล สิทธิประการดังกล่าวนี้ไม่อาจจะถูกยกเว้นได้แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการควบคุมตัวโดยศาลมีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิประการอื่นๆ อาทิ  สิทธิที่จะไม่ถูกควบคุมตัวโดยอำเภอใจ การป้องกันการทรมาน การบังคับให้หายสาบสูญ ฯลฯ

ในกรณีการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ควบคุมตัวบุคคลไว้ไม่เกิน ๗ วัน จึงขัดต่อหลักการดังกล่าวข้างต้นชัดเจน  แต่สิ่งที่น่ากังวลประการถัดมาคือแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐ จะกำหนดกลไกในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลทำการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นได้  แต่ที่ผ่านมาพบว่าศาลไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ อย่างที่ควรจะเป็นดังที่กล่าวมา ดังปรากฏในกรณีการควบคุมแอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ ๘ คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับ ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสถานที่ควบคุมตัว และควบคุมตัวเกินกว่า ๔๘ ชั่วโมงตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณากำหนด ซึ่งกรณีดังกล่าวได้มีการยื่นคำร้องตามมาตรา ๙๐ ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ศาลได้วินิจฉัยว่าการควบคุมตัวบุคคลเหล่านั้นเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ถือเป็นการควบคุมตัวที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว  โดยศาลไม่ได้ตรวจสอบเหตุผลความจำเป็นและความได้สัดส่วนในการควบคุมตัว

การที่องค์กรศาล ซึ่งถูกคาดหวังให้เข้ามาทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจของจ้าหน้าที่ละเลยที่จะตรวจสอบความชอบด้วยเหตุผลและความจำเป็นของการควบคุมตัวดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ยังคงใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. มาเป็นเครื่องมือในการจับกุมควบคุมตัวบุคคลอยู่ต่อไป และเป็นช่องทางของการหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นกฎหมายปกติและมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลที่ได้มาตรฐานสากลมากกว่าคำสั่งหัวหน้า คสชซึ่งการเปิดช่องให้สามารถใช้กฎหมายตามอำเภอใจดังกล่าว ย่อมนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่ลักลั่น มีลักษณะสองมาตรฐานและก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลได้

 

2.        เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ภาวะปกติและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว กฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษต้องถูกยกเลิกหรือทำให้สิ้นผลบังคับไป

อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวเป็นอำนาจที่มีลักษณะพิเศษ ในทำนองเดียวกับอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๕๔๗ ที่กำหนดให้สามารถกักตัวบุคคลเพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารไม่เกิน ๗ วัน  ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายพิเศษที่อนุญาตให้นำมาใช้ในช่วงที่รัฐตกอยู่ในภาวะสงครามหรือภาวะฉุกเฉินที่คุกคามความอยู่รอดของรัฐ  ในภาวะดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายที่ให้อำนาจที่พิเศษบางอย่างแก่เจ้าหน้าที่ในการจัดการกับภัยคุกคามความอยู่รอดของประเทศให้หมดไป แต่เมื่อภัยคุกคามในลักษณะดังกล่าวหมดสิ้นไป อำนาจเหล่านั้นต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย

ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ ๔ () กำหนดให้รัฐภาคีสามารถเลี่ยงพันธกรณีและงดเว้นสิทธิบางประการได้  หากประเทศหรือรัฐภาคีนั้นตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติและได้มีการประกาศภาวะนั้นอย่างเป็นทางการแล้ว แต่การใช้มาตรการที่เป็นการเลี่ยงพันธกรณีของตนภายใต้กติกาฯก็สามารถทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์  ทั้งมาตรการเช่นว่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณีอื่น ๆ ของตน ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติเพียงเหตุแห่งเชื้อชาติผิวเพศ ภาษาศาสนา หรือเผ่าพันธุ์

ลักษณะภาวะฉุกเฉินที่รัฐภาคีอาจเลี่ยงพันธรกรณีหรืองดเว้นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามกติกาฯ ได้นั้น จะต้องเป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งมีลักษณะคุกคามความอยู่รอดของชาติ  ซึ่งเป็นสถานการณพิเศษและอันตรายที่มีอยู่จริงหรือใกล้จะถึง ซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติ โดยเป็นภัยซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของประชาชน เอกราชทางการเมือง บูรณภาพแห่งดินแดนหรือต่อองค์ประกอบพื้นฐานซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งและขาดเสียไมไดเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ไดรับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศฯ” และการเลี่ยงพันธกรณีจะต้องทำเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ กล่าวคือ มาตรการพิเศษเพื่อเลี่ยงพันธกรณีนั้นจะต้องมีความเหมาะสมตามเหตุแห่งความจำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์ อันเป็นหลักการสำคัญของการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้มาตรการพิเศษเพื่อเลี่ยงพันธกรณี  ซึ่งพิจารณาจาก มาตรการทั่วไปที่ใช้ในภาวะปกติไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์นั้นได้ และไม่มีมาตรการอื่นใดที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิน้อยกว่าจะสามารถจัดการกับสถานการณ์เพื่อให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้  อีกทั้งมาตรการพิเศษควรได้รับการทบทวนและระงับการใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่าสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นสามารถควบคุมได้  และในกรณีที่ภาวะฉุกเฉินสิ้นสุดลง มาตรการพิเศษย่อมไม่มีความจำเป็นและการนำไปใช้ย่อมถือได้ว่าไม่ได้สัดส่วนอีกต่อไป เนื่องจากสามารถกลับไปใช้มาตรการปกติได้

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ ไม่ได้มีภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งมีลักษณะคุกคามความอยู่รอดของชาติตามลักษณะดังนิยามที่กล่าวมาอยู่แล้ว ประเทศไทยก็ไม่ควรที่จะมีการใช้มาตรการพิเศษทางกฎหมายในลักษณะที่เป็นการรอนสิทธิหรือเลี่ยงพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๘ กำหนดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และมาตรา ๒๖  การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

แม้คำสั่งหัวหน้า คสช.  จะถูกรับรองให้มีผลบังคับใช้โดยชอบรัฐธรรมนูญต่อไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗๙  แต่ค่าบังคับของคำสั่งเหล่านั้นก็ไม่ได้เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถที่จะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้  ซึ่งเมื่อคำสั่งเหล่านี้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนเกินสมควร  โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมและคุมขังบุคคลได้โดยอำเภอใจ ไม่ต้องขอหมายศาลและสามารถควบคุมตัวไว้ได้นานถึง ๗ วัน เป็นการยกเว้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอันเป็นกฎหมายปกติ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ดังนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวจึงขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังที่กล่าวมา  และแม้ว่าจะยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าคำสั่งเหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ศาลก็สามารถที่จะตีความกฎหมายให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหลักนิติธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้  อันเป็นหน้าที่ของศาลตามนัยยะที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓ 

          สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจของรัฐในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนต้องการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหาร รวมถึงเรียกร้องสิทธิและการมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นเครื่องมือในการจับกุม ควบคุมตัวและดำเนินคดีอยู่เสมอ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่ามีเพียงแต่อำนาจของตุลาการที่ทรงความเป็นอิสระและเป็นธรรมเท่านั้นที่จะสามารถหยุดยั้งวงจรการใช้อำนาจที่มีลักษณะอำเภอใจและไร้การตรวจสอบนี้ได้ จึงขอนำเสนอความ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม