ความขัดแย้งตุรกี-สหรัฐอเมริกามากกว่าสงครามการค้า

2833 14 Sep 2018

 

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

Shukur2003@yahoo.co.uk

             ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

         ช่วงเดือนสิงหาคมนี้โลกกำลังจับตาความขัดแย้งระหว่างตุรกีกับสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2561 "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษีเหล็กจากตุรกีเพิ่มเป็น 2 เท่าทำให้ค่าเงินลีราตุรกี ถึงได้ร่วงไปถึง 20% และลดลงมากกว่า 40% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 จากเดิมที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แลกได้ประมาณ 3.78 ลีราตุรกี กลับอ่อนค่ามาเป็น 6.92 ลีราตุรกีต่อดอลลาร์ ในช่วงเดือนสิงหาคม ส่งผลให้ตุรกี ตอบโต้สหรัฐอเมริกาด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ถึง 2 เท่าเช่นภาษีนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 120% เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 140% และยังส่งผลกระทบกับสินค้าจำพวกข้าว ผลไม้ ยาสูบ ถ่านหิน และเครื่องสำอางค์ที่นำเข้าจากสหรัฐด้วย 

(โปรดดูhttp://www.bangkokbiznews.com/news/detail/810439)

        เมื่อค่าเงินตุรกีลดอย่างฮวบฮาทำให้รัฐบาลตุรกีได้ใช้มาตรการสกัดไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศ เพื่อพยุงค่าเงินเอาไว้   มีการรณรงค์ให้คนตุรกีเทขายเงินดอลลาร์อเมริกา ไม่ซื้อสินค้าอเมริกา ช่วยซื้อสินค้าตุรกี  ในขณะเดียวกันประเทศพันธมิตรมุสลิมที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่อย่างกาตาร์เข้าช่วยเหลือวิกฤติการเงินครั้งนี้กล่าวคือชัยค์ ตามีม บิน ฮามัด อัล-ตอนี (Sheikh Tamim bin Hamad al-Thani) เจ้าผู้ครองรัฐ (Amir) แห่งกาตาร์ เสด็จมายังกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี แบบที่ไม่ได้มีกำหนดการล่วงหน้ามาก่อนโดยประกาศลงทุนในตุรกีมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงิน Lira ของตุรกีแข็งค่าทันที(โปรดดูhttps://brandinside.asia/qatar-aid-turkey-with-15-billion-with-good-relationship/)

           ในขณะเดียวกันภาคประชาชนทั้งในประเทศตุรกีหรือแม้แต่มุสลิมหลายประเทศที่สนับสนุนประธานาธิบดีตุรกี(ถึงแม้ไม่ใช่กลุ่มใหญ่แต่ได้ผลในแง่จิตวิทยาในยุคสื่อไร้พรมแดน)ก็ร่วมรณรงค์ซื้อเงินตุรกี เทขายเงินดอลลาร์และรณรงค์บอยคอตสินค้าอเมริกา(โปรดดู https://www.kompasiana.com/empuratu/5b73d1f912ae9421623c6bf5/dukungan-dari-berbagai-negara-mengalir-untuk-turki)

         ความเป็นจริงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และตุรกีครั้งนี้มีชนวนเหตุมาจากการที่ตุรกีจับกุมนักบวชชาวอเมริกันและข้อพิพาทการทูตอื่นๆก่อนหน้านี้เรื่อยมา

      กล่าวคือ แอนดรูว์ บรันสัน (Andrew Brunson) นักบวชชาวอเมริกันซึ่งถูกทางการตุรกีจับกุมและดำเนินคดีข้อหาก่อการร้าย เพราะเชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนความพยายามก่อรัฐประหารโค่น ผู้นำตุรกีปัจจุบัน แอรฺโดก์อาน เมื่อปี 2016

          แอนดรูว์ บรันสัน ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุน ฟัตฮุลเลาะห์ กูเลน นักคิด นักฟื้นฟูสังคมผ่านหลักการศาสนาชาวตุรกีผู้เป็นศัตรูทางการเมืองกับ แอร์โดอัน และหลบเขาไปลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1999 รัฐบาลตุรกีเชื่อว่าคนผู้นี้อยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อปี 2016 และพยายามเรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งตัวเขากลับมารับโทษในตุรกี  

      แอนดรูว์ บรันสัน ซึ่งอาศัยอยู่ในตุรกีมานานกว่า 20 ปียังโดนข้อหาหนุนหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธเคิร์ด PKK ซึ่งถือเป็นองค์กรนอกกฎหมายตุรกี ซึ่งหากศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริงในทุกข้อกล่าวหา เขาอาจโดนโทษจำคุกสูงสุดถึง 35 ปี

       

(โปรดดูhttps://m.mgronline.com/around/detail/9610000082457

        ดังนั้นสงครามความขัดแย้งตุรกี-สหรัฐอเมริกามากกว่าสงครามการค้า

ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะของยัสมีน ซัตตาร์นักวิชาการด้านตุรกีศึกษาที่จบปริญญาเอกที่ตุรกีและสอนตุรกีศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีท่านให้ทัศนะว่า

“แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีผลมาจากแค่เพียงเหตุการณ์เดียวที่ส่งผลทำให้เกิดความผันผวนทางการเงินหนักขนาดนี้ และคงไม่ใช้ปัจจัยเดียวที่ทำให้สหรัฐฯ หันมาใช้มาตรการทางเศรษฐกิจกับตุรกี”

(โปรดดูรายละเอียดใน https://turkeyanalysis.blogspot.com/2018/08/blog-post.html)

                 วิกฤตการเงินตุรกีครั้งนี้ไม่เพียงด้านการเงินโลกแต่ในแง่การเมืองก็จะมีปัญหาตามมาเพราะตุรกีภายใต้การนำของแอรฺโดก์อาน ผู้นำพรรคยุติธรรมมีแนวคิดอิสลามนิยม ต่างจากรัฐบาลก่อนหน้านี ที่เชิดชูแนวคิดเคมาลิสม์” Kemalism ยอมตามอเมริกาและตะวันตก

          กล่าวคือ“เคมาลิสม์” Kemalism ซึ่งเป็นแนวคิดและหลักการของอะตาเตริก บิดาของคนคนตุรกีสมัยใหม่ ซึ่งท่านเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี เพื่อตอบสนองและปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตตะวันตกจึงนำเอาแนวคิดเซคิวลาร์ (Secular) มาใช้ในสังคมหลังการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมาน   ตุรกีถูกจัดระบบใหม่เป็นรัฐแบบโลกีย์ (ไม่มี sacred ในพื้นที่ต่างๆ) การเมืองกับศาสนาถูกแยกออกจากกัน และอิสลามถูกยกเลิกจากการเป็นศาสนาประจำรัฐ มีกฎหมายตราไว้ว่า "ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว" เป็นการเลือกของแต่ละบุคคล ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาก้าวก่ายในกิจการของรัฐ ตำแหน่งคอลีฟะฮฺ(ผู้นำโลกมุสลิมแบบรัฐอิสลาม)ถูกยกเลิกและกฎหมายอิสลามและสถาบันอิสลามถูกยกเลิกไป มีการขอยืมกฎหมายพลเรือนจากสวิสเซอร์แลนด์ ยืมกฎหมายอาญามาจากอิตาลี และกฎหมายการค้าระหว่างประเทศจากเยอรมัน กฎหมายส่วนตัวมุสลิมถูกจัดเป็นรอง และนำเข้ามาแนวคิดกฎหมายพลเรือนยุโรป การสอนศาสนาในโรงเรียนถูกสั่งห้าม มีการประกาศว่าระบบการคลุมหน้าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มีการนำเอาสหศึกษามาใช้ ตัวอักษรอารบิคถูกแทนที่ด้วยอักษรลาติน อะซานไม่ใช้ภาษาหรับอีกต่อไป เครื่องแต่งกายประจำชาติถูกเปลี่ยนแปลงและมีการบังคับให้สวมหมวก(โปรดดูรายละเอียดการต่อสู้ระหว่างสองแนวคิดนี้ใน https://deepsouthwatch.org/th/node/9155)

           ดังนั้นการครองอำนาจอย่างยาวนานผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจึงสร้างความชอบธรรมให้แอรฺโดก์อาน เป็นผู้นำโลกอิสลาม และนำตุรกีสู่มหาอำนาจใหม่ของโลกมุสลิมอีกครั้ง  จะเห้นได้ว่าช่วง 5 ปีหลัง ตุรกีมีบทบาท ในสงครามตะวันออกกลาง ระหว่างโลกอาหรับ   มุสลิมและอิสราเอล  ตุรกียังเป็นประเทศหลักที่รับผู้อพยพจากซีเรีย  ช่วยเหลือมุสลิมโรฮิงยาและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม  การศึกษา  พัฒนาสังคม ต่อชนกลุ่มน้อยทั่วโลกรวมทั้งมุสลิมไทย

                  เป็นที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่ ปี 2011 มีกลุ่มอำนาจใหม่ คือจีน-รัสเซีย ขึ้นมาท้าทายอำนาจเก่าที่มีสหรัฐ-นาโต้   ในขณะเดียวกัน แอรฺโดก์อาน ผู้นำตุรกีก็กำลังเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายรัสเซียเพื่อดุลอำนาจอเมริกา และคบกับศัตรูอเมริกาอย่างอิหร่าน

                จริงอยู่ในอดีต ตุรกีเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ-นาโต้มายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แต่การที่ตุรกีเป็นผู้นำโลกมุสลิมต่อต้านนโยบายอเมริกาที่จะให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเป็นการตบหน้าผู้นำอเมริกาอย่างมาก  ดังนั้นสงครามการเงินระหว่างทั้งสองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเมืองโลกที่สหรัฐอเมริกาต้องการสั่งสอนตุรกีและจะเป็นสงครามอุดมการณ์ระหว่างขบวนการเมืองอิสลามที่กำลังเติบโตทั่วโลกกับเสรีนิยม ทุนนิยมตะวันตก และมีแนวโน้มจะส่งผลร้ายต่อ การเมืองโลก อีกทั้งก็จะกระทบสันติภาพโลกในที่สุดทั้งๆที่โลกพึ่งจะดีใจการญาติดีระหว่างอเมริกากับเกาหลีเหนือ

ในขณะที่ฝั่งแอรฺโดก์อานเองก็ใช้เหตุการณ์ครั้งนี้ในการปลุกกระแสอิสลามหรือมุสลิมนิยม โดยพยายาม ชี้ให้คนตุรกีและโลกมุสลิมเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นผลจากการคุกคามของอเมริกาและพันธมิตรตะวันตก

จากความขัดแย้งครั้งนี้เช่นกันจะทำให้โลกแบ่งออกเป็นสองขั้วทั้งเชียร์ และ ซ้ำเติมตุรกี

นักเตะเชื้อสายตุรกีอย่างเมซุส โอซิล ชาวเยอรมัน ต้องลาออกจากทีมเพราะถูกเหยียดเชื้อชาติภายหลังจากทีมเยอรมันพ่ายแพ้ในบอลโลกและนำประเด็นมาถกวงการเมืองโลกเป็นเพียงละครบทหนึ่งของความขัดแย้งการเมืองโลกแม้กระทั่งในประเทศไทยเอง

         ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้คน มองว่าความขัดแย้งตุรกี-สหรัฐอเมริกานั้นมีมากกว่าสงครามการค้า

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม