แอมเนสตี้เผย 142 ประเทศไม่ประหารชีวิตแล้ว แต่ปี 60 จีนยังครองแชมป์

1410 21 Apr 2018

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2560 พบว่าการประหารชีวิตส่วนใหญ่ในโลกเกิดขึ้นในประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรักและปากีสถาน ตามลำดับ ในอาเซียนมี สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามที่มีการประหารชีวิตประชาชน ส่วนไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 56 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ ในขณะที่อีก 142 ประเทศทั่วโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว ในรายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2560” (Death Sentences and Executions in 2017) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ในวันนี้ ยืนยันว่าแนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยในปี 2560 มีประชาชนอย่างน้อย 993 คนที่ถูกประหารชีวิตใน 23 ประเทศ โดยตัวเลขเหล่านี้ไม่ครอบคลุมการประหารชีวิตหลายพันครั้งที่เกิดขึ้นในจีน ซึ่งทางการถือว่าข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตเป็นความลับทางราชการ ในปี 2560 มีการตัดสินโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 2,591 ครั้งใน 53 ประเทศ โดย 50 ประเทศได้พิพากษาประหารชีวิต หรือประหารชีวิตประชาชนในคดียาเสพติด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีการประหารชีวิตในคดียาเสพติดสูงสุด ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดนี้สูงสุด คือ 10 จาก 16 ประเทศ

และจนถึงสิ้นปี 2560 ยังคงมีนักโทษประหารอยู่ทั่วโลกอย่างน้อย 21,919 คน เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ปัจจุบันมี 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนบรูไน ลาว และเมียนมาได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่ ข้อมูลจากรายงานล่าสุดระบุว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามยังคงประหารชีวิตประชาชนในปี 2560 โดยสิงคโปร์ประหารชีวิตประชาชนแปดคน ในขณะที่มาเลเซียมีอย่างน้อยสี่คนที่ถูกประหารชีวิต ส่วนเวียดนามมีแนวโน้มการประหารชีวิตที่สูงที่สุดในภูมิภาค แม้ทางการจะไม่ได้มีการเปิดเผยสถิติการประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ

เนื่องจากตัวเลขการประหารชีวิตถือเป็นความลับทางราชการ จึงไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่แท้จริงได้ นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเปิดเผยว่า ไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 56 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ ในปี 2560 มีการตัดสินโทษประหารชีวิต 75 ครั้ง ถือว่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ที่มีถึง 216 ครั้ง แม้ว่าประเทศไทยยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ แต่มีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2552 ซึ่งเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่เก้าที่ไม่มีการประหารชีวิตจริง “ขณะนี้ประเทศไทยใกล้จะกลายเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติแล้ว หากไม่มีการประหารชีวิตติดต่อกันครบสิบปี องค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะกลายเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย” สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ระบุว่ามีนักโทษประหารชีวิตทั้งหมด 502 คน เป็นชาย 414 คน หญิง 82 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชน โดยประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ และเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษด้วยการประหารชีวิต รวมทั้งให้ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต” ปิยนุชกล่าวทิ้งท้าย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ***ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ เนาวรัตน์ เสือสอาด ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารองค์กร มือถือ 089-922-9585 อีเมล media@amnesty.or.th ID Line: nong539081

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม