เมาแค่ไหนก็ไม่มีสิทธิ์คุกคามทางเพศ ความปลอดภัยของรถสาธารณะอยู่ที่ไหน?

1508 21 Apr 2018

เวทีเสวนา “เมาแค่ไหนก็ไม่มีสิทธิ์คุกคามทางเพศ ความปลอดภัยของรถสาธารณะอยู่ที่ไหน?” ประสานเสียง โซเชี่ยลป่วย หลังประนาม "น้องแอล" เหยื่อถูกแท็กซี่พาเข้าโรงแรม ระบุ เป็น วัฒนธรรมโทษเหยื่อ เย้ย สังคม เมาแล้วขับดีกว่าถูกจับข่มขืน จี้ กรมการขนส่งทางบก แอคชั่นให้มากกว่านี้ ขณะที่เพจเมืองปลอดภัย แนะ วิธีป้องกันตัวเองช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่ให้ถูกคุกคามทางเพศ ชี้ มีสติ อย่านั่งแถวหลัง-ติดหน้าต่างเพราะจะทำให้คนร้ายประชิดตัวโดยไม่มีทางหนีได้ พร้อมเชิญประชาชนร่วมทีมเผือก หากพบเห็นเหตุการณ์ให้ถ่ายคลิปเป็นหลักฐาน-เข้าแทรกแซงช่วยเหยื่อ และรีบแจ้งความ เมื่อวันที่ 11 เมษายน เวลา 13.00 น. เพจ เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities For Women Thailand จัดเวทีเสวนาผ่านเฟสบุ๊คส์ไลฟ์ ในหัวข้อ“เมาแค่ไหนก็ไม่มีสิทธิ์คุกคามทางเพศ ความปลอดภัยของรถสาธารณะอยู่ที่ไหน?”

โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย น.ส.อินทุอร ดีบุกคำ หรือ น้องแอล นักร้องในวงคิงก่อนบ่ายก๊อปปี้วาไรตี้โชว์ ซึ่งเป็นผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์คุกคามทางเพศบนรถแท็กซี่ที่เป็นข่าวในสื่อก่อนหน้านี้ นายณภัทร ชุ่มจิตตรี หรือ คิง ก่อนบ่าย ดาราตลกชื่อดังที่เป็นผู้เข้าให้ความช่วยเหลือน.ส.อินทุอรจากการถูกคุกคาม และน.ส.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ น.ส.อินทุอร กล่าวว่า หลังปรากฎเป็นข่าวที่ถูกแท็กซี่พาเข้าโรงแรมนั้น ทั้งที่ ๆที่ตนเป็นผู้เสียหายแต่ถูกโจมตีจากโซเชี่ยลมีเดียทั้งเรื่องการแต่งกายและการเมา ซึ่งบางคอมเมนต์หยาบคายมากว่าสาเหตุของเหตุการณ์มาจากตน โดยส่วนนี้ตนได้กล่าวขอโทษไปแล้ว ทั้งนี้สาเหตุที่เลือกนั่งแท็กซี่ในวันนั้นเพราะคิดว่าเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดเพราะรัฐเองก็ออกมารณรงค์ว่าถ้าเราเมาให้เรากลับแท็กซี่

วันนั้นตนไปสังสรรค์กับเพื่อนและไม่อยากเมาแล้วขับก็เลยเลือกใช้การเดินทางด้วยแท็กซี่ตามที่รัฐเสนอแนะ ซึ่งไม่คิดว่าจะเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น ทั้งนี้ขณะนี้สภาพจิตใจเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ยังคงหวาดกลัวกับการนั่งแท็กซี่อยู่ "ตอนฟื้นขึ้นมา รู้สึกตกใจมากที่อยู่ในโรงแรม กับใครก็ไม่รู้ เราเลยขู่แท็กซี่คนนั้นว่าจะเรียกพี่ชายมารับ พอแท็กซี่ออกไปจากห้อง เราก็ออกมาตะโกนขอความช่วยเหลือแต่ไม่มีใครเลย แม้แต่พนักงานโรงแรม จนกระทั่งใช้โทรศัพท์ภายในโทรหา โดยบอกเขาว่าเราถูกแท็กซี่พาเข้าโรงแรม แต่พนักงานโรงแรมไม่ยินยอมให้ดูกล้องวงจรปิด ซึ่งหลังจากเจรจาอยู่สักพัก มีพนักงานนำภาพถ่ายทะเบียนรถแท็กซี่คันดังกล่าวมาให้เท่านั้น" น.ส.อินทุอรกล่าว ด้านนายณภัทร กล่าวว่า กรณีที่โซเชี่ยลมาโจมตีผู้เสียหาย แทนที่จะไปโจมตีผู้กระทำความผิด กรณีนี้โซเชี่ยลป่วยหรือไม่ ซึ่งในอนาคตหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก ถามว่าจะมีผู้เสียหารายใดกล้าแจ้งความอีก เพราะนอกจากจะถูกกระทำแล้ว ยังถูกโซเชี่ยลประนามด้วย ทั้งนี้ในส่วนเหตุการณ์ของน.ส.อินทุอร นั้น ตนได้ให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีเพราะน้องเขาเป็นนักร้องนำของวงตนโดยได้พาน้องเขาไปแจ้งความเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด เพราะต้องการปกป้องศักดิ์ศรีของผู้หญิงและต้องการปรามไม่ให้เขาไปก่อเหตุกับใครแบบนี้อีก เราจะมั่นใจได้แค่ไหนเพราะแค่เขาพาน้องเขาไปในโรงแรมที่แทบจะไม่มีใครรู้จักแสดงว่าเขาต้องเคยเขาโรงแรมนั้นบ่อย เขาดูไม่มีความหวาดกลัว เหมือนเป็นเรื่องที่เคยทำจนชิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตามตัวแท็กซี่ผู้ก่อเหตุได้ในที่สุด โดยแท็กซี่ที่ก่อเหตุนั้นเป็นแท็กซี่ในโครงการแท็กซี่โอเค ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งในแท็กซี่มีทั้ง จีพีเอส และกล้องวงจรปิดที่สามารถทำให้เอาผิดเขาได้ เห็นหน้าเขาชัดเจน ซึ่งรถแท็กซี่โอเคแต่คนขับไม่โอเค "การที่มีการออกมารณรงค์เมาไม่ขับ ให้กลับแท็กซี่ แต่ถามว่าทุกวันนี้แท็กซี่ทำตัวให้ผู้โดยสารไว้วางใจหรือยัง อย่างกรณีของน้องแอล โดนแบบนี้ ยอมขับรถเมาแล้วโดนจับปรับ 2 หมื่น ดีกว่าโดนข่มขื่น ดังนั้นตอนนี้เราต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือปัญหา แท็กซี่หน้าที่ของคุณคือต้องไปส่งผู้โดยสารต่อให้เขาแต่งตัวแบบไหนก็ตามหรือเขาเมาขนาดไหนก็ตามหน้าที่ของคุณก็คือไปส่งเขาให้ถึงเป้าหมาย ถ้าเขาเมามากไม่รู้เรื่องคุณก็ต้องพาเขาไปส่งโรงพักไม่ใช่พาเขาไปส่งโรงแรม คุณไม่มีสิทธิ์ไปคุกคามทางเพศเขา ทุกวันนี้ประชาชนถึงได้ไว้ใจใช้บริการแกร็บแท็กซี่มากกว่าแท็กซี่ที่วิ่งทั่วไป เพราะความปลอดภัยของรถระบบอื่นมันมีมากกว่า มันมีข้อมูลสามารถติดตามตัวของคนขับได้ตรวจสอบได้” ขณะที่น.ส.วราภรณ์ กล่าวว่า กรณีแรกที่กระแสสังคมโจมตีมาที่ผู้เสียหาย ทั้งเรื่องเมา หรือการแต่งตัว ซึ่งต้องตั้งคำถามกลับไปว่า สังคมเกิดตรรกะวิบัติอะไรหรือไม่ เพราะถ้านำเหตุการณ์นี้ไปเปรียบเทียบเหตุการณ์ลักษณะอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเพศ เช่น มีคนเมาเดินอยู่ริมถนนและถูกทำร้ายร่างกาย จะถูกประนามไหมว่าเพราะเมา จึงถูกทำร้ายร่างกาย แต่พอสังคมมองเห็นว่าเป็นเรื่องเพศ โดยเฉพาะเกิดกับผู้หญิง สังคมจะกล่าวโทษมาที่ผู้เสียหายเพราะสังคมมองว่าผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ซึ่งเมื่อเหตุร้ายแรงขนาดนี้ สังคมยังมีแก่ใจมาตั้งคำถามกับผู้หญิง เป็นตรรกะที่วิปริต วิธีคิด เป็นวัฒนธรรมที่โทษเหยื่อ เพราะเรื่องอื่นสังคมไม่มาตั้งคำถามแบบนี้ซึ่งวัฒนธรรมของการโทษเหยื่อแบบนี้จะทำให้กระบวนการที่จะต้องหาคนผิดมาลงโทษนั้นช้าออกไปอีก

น.ส.วราภรณ์ กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าการถูกคุกคามทางเพศในระบบขนส่งสาธารณะ ที่พบมากเป็นอันแรกคือ รถโดยสารประจำทาง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีผู้ใช้เยอะสุด รองลงมาเป็นมอเตอร์ไซค์ 11.4 เปอร์เซ็นต์ แท็กซี่ 10.9 เปอร์เซ็นต์ รถตู้ 9.8 เปอร์เซ็นต์ บีทีเอส 9.6 เปอร์เซ็นต์ โดยในส่วนของแท็กซี่ถือได้ว่าอยู่ในลำดับต้น ๆ คือลำดับที่ 3 และเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามเพราะเป็นรถแบบปิด ซึ่งพฤติกรรมของการคุกคามทางเพศของแท็กซี่ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สายตา การพูดจาสองแง่สามง่าม และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการพาไปสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเพื่อทำการคุกคามเหมือนกรณีที่คุณแอลเจอ อย่างไรก็ตามภาคีเครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมอบ "คู่มือเผือก" ซึ่งเป็นคู่มือต้นแบบการอบรมพนักงานขนส่งสาธารณะ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอดส่องดูแลความปลอดภัยในระบบสาธารณะ “ในวันนั้นมีตัวแทนของกรมการขนส่งทางบกมาด้วย เราก็เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ สอดส่องดูแล เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดในระบบขนส่งสาธารณะ และต้องอบรมพนักงานประจำรถ ให้เข้าใจ เช่น กระเป๋ารถเมล์ต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมแบบไหนเข้าข่ายการคุกคามทางเพศ เขาจะเข้าไปแทรกแซงได้หรือไม่ รวมถึงช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน จะต้องมีมาตรการติดตามที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากกรณีของน้องแอลเรายังไม่เห็นว่ากรมการขนส่งทางบก จะออกมาพูดให้สังคมมีความมั่นใจว่าไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากนี้เราจะทำหนังสือทวงถามไปที่กรมการขนส่งทางบกถึงแนวทางในการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างชัดเจนอีกครั้ง"น.ส.วราภรณ์ กล่าว

น.ส.วราภรณ์ ยังแนะนำวิธีการป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศในการเดินทางช่วงเทศกลางสงกรานต์ ว่า แม้ว่าทุกคนจะหวังว่าสังคมจะปลอดภัย แต่ความจริงสังคมยังไม่ปลอดภัย ดังนั้นเราจะต้องระมัดระวังตนเอง และมีสติในการเดินทาง รวมถึงการไม่เลือกนั่งในมุมอับ เพราะจากการคุยกับผู้เสียหายรายอื่นๆพบว่าการนั่งข้างหลัง ถือเป็นมุมที่ผู้กระทำจ้องกระทำ เช่น หากต้องนั่งรถทัวร์อาจจะต้องนั่งขยับมาข้างหน้า หรือ ไม่นั่งติดหน้าต่าง เพราะจะโดนต้อนเขามุมได้ง่าย ทั้งนี้หากเกิดเหตุ ควรพยายามส่งสายตา สะกิด หรือ บอกพนักงานประจำรถ ถ้าไม่สามรถกระทำได้ ให้ ส่งเสียงดังกับผู้กระทำ หรือ ขอให้ผู้โดยสารคนอื่นช่วยเหลือ เช่นเดียวกัน เมื่อเราเห็นผู้อื่นถูกกระทำ สามารถร่วมเป็นทีมเผือก ได้ โดยเข้าแทรกแซงเหตุการณ์ หรือ จะใช้โทรศัพท์ถ่ายคลิปเพื่อใช้เป็นหลักฐานได้ พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนประชาชนกดไลค์เพจเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง

https://www.facebook.com/SafeCitiesForWomen/ เพื่อมาร่วมกันเป็นทีมเผือก https://www.facebook.com/groups/teampueak/ สอดส่องและป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศด้วย ////////// หมายเหตุสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณแอร์โทร 080-970-7492

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม