“ระยำแร่เหมือง” หรือไม่ใช่เรื่องของ “รัฐ” !?

822 28 May 2014

ผ่านพ้นมาร่วมสองสัปดาห์แล้วที่เหตุการณ์การรุมทำร้ายชาวบ้านอย่างไม่ยี่หระต่อกฎหมายและศีลธรรมของกลุ่มคนเหี้ยมร่วม 400 คน หลังชาวบ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง ต.เขาหลวง จ.เลย คัดค้านการขนแร่ทองแดงประจำเหมืองทองแดงบริษัททุ่งคำ พร้อมกับการสืบเสาะอย่างไร้เบาะแสของการนำจับกลุ่มผู้กระทำผิดมาลงโทษ กอปรกับกรณีการเพิกเฉยละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่าทำไมกระบวนการต่อสู้ภาคพลเมืองโดยกำลังของประชาชนถึงถูกทอดทิ้งตลอดมา … นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเสียงจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ฝังตัวอยู่กับกระบวนการแสวงหาความยุติธรรมมาอย่างยาวนาน จนถึงกับต้องท้อใจที่ว่ากระบวนการดังกล่าวอาจเป็นเพียงภาพในอุดมคติ “พิธีกรรมก็เป็นอย่างนี้ตลอดนะ ผมมองสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งนะ เนื่องจากนโยบายของรัฐเนี่ยไปมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก ไม่ได้ไปสนใจเรื่องอื่น ทีนี้อะไรก็แล้วแต่ที่มันทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เขาก็จะสนับสนุน โดยเฉพาะกับกฎหมายบางตัวที่ไปเอื้อให้เศรษฐกิจเป็นด้านหลัก มากกว่าความเป็นมนุษย์ ความเป็นคน ความที่มีสุชภาพดี หรือความที่มีการศึกษาที่ดี ของชาวบ้านของพลเมือง อันที่สองเนี่ย มันก็สืบเนื่องมาจากเหมืองแร่ เมื่อนโยบายรัฐคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจเนี่ย คนก็อยากมั่งอยากมี มันก็เกิดการร่วมมือกันที่จะทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองมีรายได้ มันสะท้อนให้เห็นถึงการเกิดการคอรัปชั่น ทางกลุ่มคนรักบ้านเกิดทั้งหก หมู่บ้าน เขาสรุปได้ใกล้เคียงนักวิชาการข้างนอกแล้วว่า มันเป็นการสมทบกันแล้วระหว่างข้าราชการผู้มีหน้าที่ในการปฏิบัติการกับกลุ่มทุน แล้วก็แก๊งที่จะอำนวยความสะดวกที่จะทำให้ทำงานสำเร็จ อันนี้จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หน่วยงานรัฐละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง จริงๆแล้วหน่วยงานรัฐบางคนก็มีอุดมการณ์ก็มีที่เป็นคนดี ก็มีจำนวนไม่มากหรอกที่เป็นอย่างนี้ แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องความรุนแรง คือเราจะเห็นชัดเจนเลยนะว่า อย่างเหตุการณ์นี้ มันจะมีการเข้ามาปล้นชาวบ้านเลย เราไม่ได้เรียกว่าการขนแร่ มันมาทำร้ายชาวบ้าน มันเหมือนพวกอั้งยี่อ่ะ มีระบบมากเลย มีการจัดการรู้ว่าจะทำอะไรยังไง เขารู้ว่าสังคมกำลังมอง ภาพกำลังเสีย เขาเลยทำให้ภาพของชาวบ้านที่กำลังดีขึ้น ดูเสียลงไปบ้าง ก็เลยมีการเผา ทำให้สังคมได้มองเห็นว่า เอ๊ย ! นี่คือการแก้แค้นของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย ซึ่งพอเช็คไปในรายละเอียดแล้วเนี่ย เราลงตัวคนเลยนะ ซึ่งรู้ว่าใครเคลื่อนไหวอะไรยังไง แต่กลับไม่มีใครรู้เรื่องเลย เขาก็ตกใจเหมือนกัน และคิดว่ากำลังถูกจับตามองหรือเปล่า ตรงนี้จึงทำให้เรามองเห็นว่า มันเป็นการพยายามจะโต้กลับเพื่อสร้างภาพลบกับชาวบ้าน และกู้ภาพตัวเองขึ้นมา อีกอย่างหนึงที่มองให้เห็นชัดๆก็คือว่า หน่วยงานรัฐเนี่ยที่มีหน้าที่ในการปฏิบัติเนี่ย เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้มันส่อให้เห็นความไม่สุจริต ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรีบจัดการ ซึ่งเรื่องนี้มันเกี่กวับเรื่องแร่ แร่เนี่ยมันก็เป็นประเด็นที่เราต้องมอง ต้องดูว่าแร่มันอยู่ที่ไหนเพื่อจะนำไปสู่การคุยต่อว่า มันเกิดอะไรขึ้นมา มีใครบ้าง แต่หน่วยงานรัฐกลับไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย ถูกไหม แต่รองผู้ว่ากลับบอกว่า การซื้อขายแร่ครั้งนี้ถูกกฎหมาย ซึ่งถ้าพูดอย่างนี้หมายความว่าคุณสนับสนุนแน่นอนละ แต่พฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการขนแร่ครั้งนี้เนี่ยมันผิด โอเคละ ถ้าคุณมองว่าแร่ถูก แล้วถามว่าพฤติกรรมล่ะที่นำไปสู่การขนแร่เนี่ยมันผิดไหม ทีนี้แร่เนี่ยมันเป็นมูลเหตุของความวุ่นวาย ดังนั้น มองได้ไหมว่า “แร่” เนี่ยน่าจะผิดด้วย นี่เป็นข้อสันนิษฐานในเบื้องต้น ซึ่งก็จะนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนแล้วก็ยึดกุมในอนาคต ตามกระบวนการยุติธรรม โอเค… ถ้าคุณถูก คุณมีใบซื้อขายทุกอย่างพร้อมในการซื้อชาย ขนแร่ อะไรก็แล้วแต่ ก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม แร่เนี่ยไม่เกี่ยวกับเรื่องของศาล หรือคดีที่ชาวบ้านโดนฟ้องอยู่ แต่การขนย้ายแร่เนี่ยมันเป็นปัญหา คือชาวบ้านไม่ได้ห้ามให้คุณไม่มาขนแร่นะ คุณจะขนก็ขนไป แต่คุณจะขนผ่านชุมชนได้ไม่เกินสิบห้าตัน ชาวบ้านเคารพตรงนี้มากเลยนะ แต่เขาไม่ทำอย่างนั้นไง มันก็ยิ่งทำให้เห็นพฤติกรรมที่ส่อในทางไม่สุจริต อันนี้น่าสนใจนะ เรื่องของการขนแร่ คนซื้อแร่ และก็เส้นทางการขนแร่ แต่หน่วยงานรัฐพยายามเฉไฉว่าถูกกฏหมายแล้ว ถ้าคุณพูดแบบนี้ แสดงว่าพิพากษาแล้วสิว่าชาวบ้านผิด แล้วสังคมจะมองยังไง” ดังนั้น เมื่อถูกถามว่ามีข้อเสนอแนะนำอย่างไรที่จะทำให้ชาวบ้านเอาชนะหมากชั่วๆ ดังกล่าวได้ จึงได้คำตอบที่ว่า “ผมคิดว่ามีสองอันที่อยากจะพูด คือชาวบ้านก็ต้องปกป้องชีวิตลูกหลานเขาเองด้วย นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเลยขั้นที่หนึ่ง ที่สำคัญคือเขาจะต้องปกป้องรักษาสิทธิที่เขามีอยู่ที่นี่ อันที่สองเนี่ย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำอะไรบ้าง พฤติกรรมคนสามร้อยกว่าถึงสี่ร้อยคนมันไม่ใช่เล่นๆเลยนะ มันเหมือนสงคราม คุณนึกออกมั้ยว่า สามสี่ร้อยคนเนี่ยไม่ใช่มายืนดูสองร้อยคน แล้วอีกร้อยคนปฏิบัติการ แต่จำนวนสี่ร้อยคนเนี่ยมาปฏิบัติการเลย ซึ่งถามว่าในประเทศเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไหม มันไม่ใช่ม็อบนะ ม็อบเนี่ยมันยังมีมวลชนที่ไปนั่งฟัง แต่นี่ไม่ใช่ นี่คือการปฏิบัติการจากทุกคน หน่วยงานของรัฐจะคิดอย่างไร ไม่สำเหนียกหรือว่าบ้านเมืองมีขื่อมีแปไหม คุณจะคิดว่ามันเป็นการทะเลาะระหว่างเรื่องการขนแร่หรือไม่ขนแร่ แค่นั้นหรือ ยิ่งถ้ารัฐบอกว่ามันเป็นการโต้แย้งของชาวบ้านกับเหมือง มันยิ่งผิดพลาดเข้าไปใหญ่เลย เหมือนเป็นการโยนภาระที่ไม่อยากแก้ไข แล้วอย่างงั้นจะมีหน้าที่ มีตำแหน่งไปทำไม ดังนั้นการที่จะเตรียมการเนี่ย ผมเข้าใจว่าตอนนี้เขากำลังดำเนินการอยู่ในเชิงคดี อันที่สองเนี่ยคือหาความรับผิดชอบจากรัฐ ตั้งแต่ระดับบนสุด โดยเฉพาะกับ กภร. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง เพราะมูลเหตุของเรื่องนี้มันอยู่ที่แร่ ดังนั้นถ้าคุณไม่คิดถึงเรื่องนี้เนี่ย ผมคิดว่ามันน่าเสียใจที่เรามีข้าราชการแบบนี้ ถ้างั้นเอาใครมาก็ได้ แล้วก็ปัดสวะไปเรื่อยๆ ผมได้ยินว่าเรื่องนี้กำลังเป็นที่สนใจมากๆ นักวิชาการในภาคอีสานทั้งหมดก็กำลังพุ่งเป้ามาที่เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในเรื่องแร่ คือในอนาคตเนี่ยบริษัทนี้เขาจะขอประทานบัตรอีกประมาณร้อยกว่าแปลง จากที่ขอไปแล้วหกแปลง ซึ่งในหนึ่งร้อยหกแปลงเนี่ยมันกินพื้นที่ประมาณสามหมื่นสามพันไร่ คุณลองคิดดูว่ามันใหญ่แค่ไหนล่ะ แล้วมันจะต้องผ่านลำน้ำเท่าไรถ้ามีการขุด นี่เพียงแค่พันไร่เองนะที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ผลกระทบมันยังเยอะขนาดนี้ ในเมืองเลยมีระบบที่ต้องใช้น้ำ ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดในอนาตคตก็คือ น้ำจะต้องถูกแย่งชิง ชาวบ้านที่อยู่ตีนเหมืองนี่นะ น้ำไม่ไหลไปตามปกตินะ เวลาจะใช้น้ำต้องไปขอเขา แล้ววันดีคืนดีเนี่ย เวลาเขาหยุดกิจการเนี่ย น้ำมันเอ่อขึ้นมาในแปลงนา ซึ่งเป็นช่วงที่เขาไม่ต้องการในระหว่างการทำเกษตร พอมันเกิดมันก็เสียหาย ต่อมา การขุดแร่เนี่ยมันต้องมีเปื้อนแร่ สารโลหะต่างๆมันก็ไหลลงน้ำ ลองคิดดูคนทั้งเมืองเลยเนี่ยมันต้องใช้น้ำจากตรงนี้นะ แล้วใครกินผลผลิตทางเกษตรล่ะ … ก็คนเมืองเลย ถ้าโดยสรุปเนี่ย ชาวบ้านคงจะสู้กันเรื่องของคดี และก็ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง อีกอันหนึ่งก็คือจากนักวิชาการ เขาจะพูดอยู่ตลอดเวลาว่า “รกเขาฝังอยู่ที่นี่ กระดูกพ่อกระดูกแม่เขาฝังอยู่ที่นี่ จะให้เขาย้ายไปหรอ” แล้วปู่ย่าตายายมอบดินดีๆให้ทำการเกษตร ให้อาชีพดีดีๆกับพ่อเขา แล้วทำไมเขาถึงจะไม่ยอมปกป้องสิ่งดีๆไปให้ลูกหลานเขา อันนี้มันเป็นสำนึก ดังที่ทวดเขาให้กับพ่อเขา พ่อเขาให้กับเขา ขณะเดียวกัน นี่มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆละนะ นักข่าวต่างประเทศกำลังติดต่อมาสามทีม จะเข้ามาทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ อย่างรอยเตอร์ก็มาแล้ว” … แล้วประชาชนพลเมืองในประเทศไทยล่ะจะสนใจกันได้แล้วหรือยัง … วีนัส อยู่ดี ทีมงานไทยเอ็นจีโอ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม