แร่เถื่อน คนถ่อย หน่วยงานสถุล : เหตุเกิดที่เหมืองทองคำจังหวัดเลย

1364 19 May 2014

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ มาตรา ๑๐๓ วรรคแรก “อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในหมวดนี้ เมื่อปรากฏว่าได้มีการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือมีเหตุอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน”[1] เหตุการณ์ไล่ทุบตี จับมัดมือไพล่หลังและกักขังชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองทองคำและทองแดงของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จนถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหลายราย ด้วยการใช้กองกำลังอำพรางใบหน้าจำนวน ๓๐๐ คน พร้อมอาวุธครบมือ ทั้งท่อนเหล็ก มีด และปืน โดยการนำของ พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และลูกชาย เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ ๑๕ ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นั้น ทำให้นึกย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อสองสามปีก่อนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไล่จับกุมขบวนการขุด ซื้อ ขายและขนแร่เหล็กเถื่อนที่เมืองเลย เพราะคำถามมีอยู่ว่า ทำไมหน่วยงานที่กระตือรือร้นไล่จับแร่เหล็กเถื่อนคราวนั้นจึงเป็นดีเอสไอ แล้วกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่เป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยตรงไปอยู่เสียที่ไหน ? ไม่ยากเกินไปนักหากจะเปรียบเทียบเรื่องนี้กับข่าวขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าด้วยการนำไม้มาสวมตอ หรือนำไม้มาสวมโสร่งที่ป่าลุ่มน้ำสาละวิน เขตรอยต่อประเทศพม่าและไทย ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือไม่มีเอี่ยวเกี่ยวข้อง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้ หรือจะไม่ตัดไฟแต่ต้นลม หรือจะไม่สามารถจับกุมกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องได้ และแทบไม่น่าเชื่อที่ตัวละครเกี่ยวกับการขุด ซื้อ ขายและขนแร่เหล็กเถื่อนจะเป็นตัวละครเดียวกันกับการซื้อ ขายและขนแร่ทองแดงเถื่อนของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงในค่ำคืนของวันที่ ๑๕ ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ บริษัท ฉางเถ่ พัฒนาการแร่ จำกัด ที่เป็นตัวละครสำคัญในการขุด ซื้อ ขายและขนแร่เหล็กเถื่อนที่เมืองเลยเมื่อสองสามปีก่อน ในแฟ้มคดีของดีเอสไอบ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับบริษัท พี.ที.เค. ไมน์นิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททำเหมืองแร่เหล็กที่ภูอ่างในจังหวัดเลย และมีโรงแต่งแร่เหล็กอยู่ในเขตเหมืองแร่ด้วย เพราะมีความเป็นไปได้ว่าแร่เหล็กเถื่อนบางส่วนนอกจากจะขนเอาไปลงเรือที่แม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอยุธยาแล้ว อีกส่วนหนึ่งน่าจะนำมาที่บริษัท พี.ที.เค. ไมน์นิ่ง จำกัด ทำการแต่งแร่ต่อไปด้วย ซึ่งเจ้าของตัวจริงของบริษัท พี.ที.เค. ไมน์นิ่ง จำกัด ก็คือนายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย นั่นเอง และก็เป็นนายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ คนเดิม ที่ให้คนสนิทโทรศัพท์มาหลายครั้งหลายหนเพื่อนัดหมายนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำและทองแดงของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด คนหนึ่ง เพื่อรบเร้าให้ไปหาเพื่อขอเจรจานำแร่ทองแดงออกจากเขตเหมืองแร่ที่บริษัททุ่งคำได้รับประทานบัตรบนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน จนในที่สุดนายสมัย ภักดิ์มี ทนแรงกดดันรบเร้าไม่ไหว จึงไปพบนายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ พร้อมสมาชิก อบต.เขาหลวง อีก ๕ คน เมื่อสามเดือนก่อน (กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) ที่บ้านใหญ่ ซึ่งเป็นคำเรียกที่คุ้นเคยรู้จักกันดีของคนเมืองเลยถ้าพูดถึงบ้านพักอาศัยของนายธนาวุฒิ ในวันเข้าพบนายธนาวุฒิยื่นข้อเสนอให้กับนายสมัย ภักดิ์มี และพวก ว่าตัวเขาเป็นตัวแทนจากบริษัททุ่งคำให้มาขอขนแร่ทองแดงออกจากเขตเหมืองแร่เพื่อเอาไปขาย โดยจะขนวันละเที่ยว ๆ ละ ๑๕ ตัน ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมด แต่นายสมัย ภักดิ์มี ก็ไม่สามารถรับปากแทนชาวบ้านคนอื่นได้ โดยบอกแก่นายธนาวุฒิว่าขอนำเรื่องนี้กลับไปปรึกษาหารือชาวบ้านก่อน เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวไปเกี่ยวข้องกับซุ้มประตูทางเชื่อมบ้านนาหนองบงระหว่างคุ้มใหญ่กับคุ้มน้อย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อรถขนแร่ขนาดใหญ่เพราะโครงสร้างบางส่วนของซุ้มประตูไปสกัดขัดขวางถนนขนแร่ของบริษัทที่ตัดผ่านถนนเชื่อมหมู่บ้าน กลายเป็นสี่แยกขึ้นมา รวมถึงบ้านนาหนองบงเองมีระเบียบชุมชนห้ามรถบรรทุกหนักเกิน ๑๕ ตัน ผ่านถนนของหมู่บ้านอีกด้วย ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๗ พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค นำชายชุดดำ ๑๖ คน ใส่เสื้อคลุมแขนยาวสีดำปักสัญลักษณ์กลางหลังเสื้อคลุมเป็นรูปม้าขาวยกสองขาหน้าคาบธนูแดงบนกากบาทเป้ายิงล้อมด้วยแถบสีแดงวงกลมสองแถบ ๆ ละหนึ่งส่วนสี่ของวงกลม พร้อมตัวอักษร ‘ทีมงาน พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค’ บุกเข้าไปในบ้านพักอาศัยของนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เพื่อข่มขู่ขอนำแร่ทองแดงออกจากเขตเหมืองแร่ โดยขอใช้เส้นทางภายในหมู่บ้าน หรือไม่ก็ต้องพังซุ้มประตูที่เชื่อมบ้านนาหนองบงระหว่างคุ้มใหญ่กับคุ้มน้อยออกไป สาระสำคัญที่ พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค พูดตะโกนเสียงดังฟังชัดต่อหน้าชาวบ้านที่รุกฮือเข้ามารายล้อมชายชุดดำหน้าบ้านนายสุรพันธ์ก็คือ “ผมมาขนแร่ทองแดงให้นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ ที่รับซื้อแร่จากทุ่งคำไปแล้ว” แต่ผลสุดท้ายชาวบ้านก็รุกฮือขับไล่ พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และพวก ออกไปจากหมู่บ้านได้ และไม่มีการขนแร่ทองแดงเกิดขึ้นในวันนั้น “ตอนนี้บริษัทกำลังอยู่ในภาวะขาดทุน ผมพูดตรง ๆ ถ้าปล่อยให้เขาทำต่อไปอีกหน่อยจนคืนทุน เขาจะได้ออกจากพื้นที่ของเราไป เพราะถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป ที่นี่อาจจะเป็นสมรภูมิเลือด” ถ้อยคำของ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ อดีตประธานบริษัททุ่งคำเมื่อปี 2551 ที่กล่าวไว้ในงานสัมมนาเรื่อง “ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม : ศึกษากรณีจังหวัดเลย เหมืองทองคำ” เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังก้องเข้ามาระหว่างเขียนบทความชิ้นนี้ ไม่น่าเชื่อว่าคำพูดดังกล่าวของ พล.อ.กิตติศักดิ์ จะเป็นจริงในวันนี้ ซึ่งระหว่างนายพลทั้งสอง-พล.อ.กิตติศักดิ์ และ พล.ท.ปรเมษฐ์-กอดคอสนิทแนบแน่นกันมาเมื่อครั้งยังรับราชการทหาร หลังจากออกจากราชการก็มีชื่อเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ให้กับบริษัท เสริมทรัพย์ไพศาล กรุ๊ป 1999 จำกัด ด้วยกันทั้งคู่ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้แก่กลุ่มอิทธิพลของ พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค ก็คือการนำกลุ่มคนใส่เสื้อคลุมสีดำเข้ามาดูแลพื้นที่หลังเหตุการณ์ปาระเบิด เอ็ม ๒๖ เข้าไปในตลาดปัฐวิกรณ์เมื่อปลายเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางธุรกิจของสองบริษัท ได้แก่ บริษัท ปัฐวิกรณ์ จำกัด ที่ พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค มีตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษา กับบริษัท โชคชัยทรัพย์ทวี จำกัด จนบัดนี้ตำรวจก็ยังไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นฝ่ายปาระเบิด ความเชื่อมโยงที่กล่าวมาทั้งหมดมาลงเอยตรงจุดที่ว่ามาตรา ๑๐๓ วรรคแรก ของกฎหมายแร่ที่ระบุว่า “อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในหมวดนี้เมื่อปรากฏว่าได้มีการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือมีเหตุอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน” จึงเกิดคำถามตามมาว่าอธิบดี กพร. ไม่รับรู้หรือว่าพื้นที่นี้มีความขัดแย้งจนเป็นเหตุกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชนอยู่ ? ข้อเท็จจริงในพื้นที่บ่งชัดอยู่แล้วว่าพื้นที่นี้มีความขัดแย้งและไม่มีความสงบสุขตามมาตรา ๑๐๓ ดังที่ได้กล่าวไป นอกจากความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาถึงคืนวันที่ ๑๕ ต่อเนื่องรุ่งเช้าของวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ แล้ว ก่อนหน้านั้น นับตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๖ เป็นต้นมา ชาวบ้านโดนคดีฟ้องร้องจากบริษัททุ่งคำถึง ๗ คดี สองคดีแรกเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ๕๐ ล้านบาท บวก ๑๐ ล้านบาททุกวันจนกว่าคดีจะสิ้นสุดหรือกำแพงจะถูกทำลายลงและคดีอาญาโทษฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์จากการทำกำแพงครั้งที่หนึ่งเพื่อกั้นถนนไม่ให้รถบรรทุกแร่และสารเคมีในการทำเหมืองและประกอบโลหกรรมวิ่งผ่าน เพราะหวั่นเกรงผลกระทบที่เกิดขึ้น สองคดีที่สองเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ๗๐ ล้านบาท และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกจากการทำซุ้มประตู (กำแพงครั้งที่สาม) ปิดกั้นถนนด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน สองคดีที่สามเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ๑๕๐ ล้านบาท และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกพื้นที่สาธารณะด้วยการนำแท่งคอนกรีตทรงกลม (กำแพงครั้งที่สอง) ปิดกั้นถนนด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน และคดีสุดท้ายบริษัททุ่งคำร่วมกับ อบต. เขาหลวง ไปร้องทุกข์กล่าวโทษชาวบ้าน ๒๒ คน ในข้อหาข่มขืนใจ บุกรุกและสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ จนปัจจุบันยังเป็นคดีความกันอยู่ทั้ง ๗ คดี เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในค่ำคืนของวันที่ ๑๕ ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ต้องถือว่านายธนาวุฒิได้รักษาวัฒนธรรมเชื้อไม่ทิ้งแถวต่อจากรุ่นพ่อได้เป็นอย่างดี เพราะเลือกใช้บริการของแก๊งทหารอย่าง พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค มาทำภารกิจนี้ ไม่ต่างจากพ่อที่อื้อฉาวตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์เมื่อ ๑๙ ปีก่อน เพราะถูกโยงใยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบงการสังหารครูประเวียน บุญหนัก แกนนำคัดค้านโรงโม่หินสามโรง โรงโม่หินแห่งแรก คือ บริษัท สุรัตน์ การศิลา จำกัด ของนายสุรัตน์ ทิมสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ในเขตอำเภอวังสะพุง และประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดังที่ข่าวระบุว่า นายเลข ขัตติยะ มือปืน เป็นคนใกล้ชิดของ นายสุรัตน์ ทิมสุวรรณ เจ้าของโรงโม่หินดังกล่าว ส่วนโรงโม่หินอีกสองแห่งเป็นของ บริษัท สหศิลาเลย จำกัด ของนายสมศักดิ์ แสงเจริญรัตน์ สส.เขต 1 ประชาธิปัตย์ จ.เลย และโรงโม่หินห้างหุ้นส่วนจำกัด บุญยงค์กิจ (เลย) แม้จะพ้นจากการเป็นผู้ต้องหาคดีดังกล่าวเพราะอัยการสั่งไม่ฟ้องก็ตาม แต่คนเมืองเลยเขารู้กันทั้งนั้นว่าใครคือผู้บงการตัวจริงที่ฆ่าครูประเวียน แต่ความเชื่อมโยงดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดอยู่เพียงแค่นักธุรกิจและนักการเมืองเท่านั้น ตัวเชื่อมต่อที่สำคัญที่ทำให้ความรุนแรงทำงานได้ก็คือหน่วยงานราชการอย่าง กพร. ที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตซื้อ ขายและขนแร่ทองแดงล็อตนี้ ทั้ง ๆ ที่ขัดต่อมาตรา ๑๐๓ วรรคแรก ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวนั้นจะให้โดยเงื่อนไขใดก็ตาม ต้องนับว่าเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้ความรุนแรงเมื่อคืนวันที่ ๑๕ ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ขึ้นมา ซึ่ง กพร. ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัวได้ แน่นอนว่าแร่เถื่อนเข้ากันได้ดีกับคนถ่อย และยิ่งเข้ากันได้ดีกับหน่วยงานสถุล ผู้ที่มีชีวิตอยู่โดยไม่สนใจใยดีถึงชีวิตของมนุษย์ผู้อื่นแต่อย่างใด ขอเพียงผลประโยชน์เท่านั้นที่เคารพบูชา จนถึงขนาดไม่สนใจว่าตัวเองจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับแก๊งอิทธิพลในการทำร้ายทำลายชีวิตประชาชนที่หวงแหนแผ่นดินถิ่นเกิดหรือไม่ อย่างไร ขอให้ติดตามต่อไป น่าจะมีความคืบหน้าเป็นข่าวออกมาในเร็ว ๆ นี้ว่า ความตกลงซื้อขายแร่ทองแดง ๔๗๖ ตัน ล็อตนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะแบ่งกันคนละเท่าไหร่ และถ้าจะลบล้างความผิดของตัวเองที่ไปเกี่ยวข้องกับแก๊งอิทธิพลในการทำร้ายชีวิตชาวบ้านเมื่อกลางดึกของวันที่ ๑๕ ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กพร. ต้องเพิกถอนใบอนุญาตซื้อแร่หรือใบอนุญาตอื่นใด ตามมาตรา ๑๐๓ ของกฎหมายแร่ และสั่งระงับยับยั้งแร่ทองแดงเถื่อนที่กองอยู่ที่โกดังที่ศรีราชาทันทีก่อนจะถูกส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือหากส่งออกนอกราชอาณาจักรไปแล้วก็ต้องไล่เบี้ยให้ได้ตั้งแต่ต้นทางการซื้อ ขายและขนแร่ทองแดงเถื่อนล็อตนี้เพราะเป็นการซื้อ ขายและขนแร่ท่ามกลางเหตุอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม