โลกร้อน ผลกระทบ การปรับตัวของชุมชน 0.8 OC ถึง 2 OCมุ่งสู่ 4 OC ความจริงที่ต้องเกิด

994 28 Apr 2014

โลกร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ คงเป็นประโยคที่คุ้นเคยตามสื่อประเภทต่างๆ พร้อมกิจกรรมรณรงค์ของบริษัท องค์กรที่อาศัยคำว่า “โลกร้อน” ทำให้บริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจที่ล้างผลาญทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ขุดเจาะทำลายธรรมชาติเพื่อสนองความอยากเกินปกติของวิถีชีวิตผู้คน บริษัทเหล่านี้คือกลุ่มที่ทำค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น นักบุญใจบาปที่สวมหน้ากากและใช้คำว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” เพื่อเป็นหนทางและช่องทางกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและทำลายล้างธรรมชาติ แย่งชิงน้ำ ป่า อาหารจากปากท้องของคนจน ช่วงชิงความเป็นเจ้าของทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่น ผ่านกฎหมาย นโยบาย ทุกปีมีการประชุมโลกร้อน(ชื่อที่ไม่เป็นทางการ) ประจำปี Conference of the Parties (COP) ของคนจากทั่วโลก ทั้งนักวิทยาศาสตร์, นักเคลื่อนไหว, นักการเมือง, ชาวไร่ชาวนา ผู้ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนที่มีการถกเถียง เจราจาเพื่อที่จะให้โลกอยู่ได้ สิ่งที่คาดหวังร่วมกัน คือ ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกต้องไม่สูงขึ้นเกิน 2 องศา เซลเซียส, การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การปรับตัวในภาวะโลกร้อนและที่สำคัญเรื่องการชดเชยโลกร้อน จากผู้ที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น การประชุมจบลงด้วยความหวังในบางประเทศเป็นมาอย่างต่อเนื่อง 18 ครั้ง แต่สุดท้ายก็คือความล้มเหลวที่จะยับยั้งการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ย 2 องศาเซลเซียส ที่ทุกคนคาดหวัง พร้อมกับข่าวคนจนประสบภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลก ผู้คนล้มตาย เดือดร้อนเพิ่มขึ้นและนับวันจะรุนแรง นี่คือ ความเจ็บปวดของคนทั่วโลก ที่นักการเมือง คนในสังคมไทยไม่ใส่ใจกับคำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือรู้จักกันดี “โลกร้อน”   การรณรงค์และการเจรจาโลกร้อนของภาคประชาสังคม NGO ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะที่ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงขึ้นกำลังจะถึง 2 องศาเซลเซียส ณ วันนี้ 0.8 องศาเซลเซียส ได้ส่งผลกับคนยากจน ชาวนา ชาวไร่ในภาคเหนือตอนล่าง             ปรากฏการณ์ กับภาคเกษตรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ เช่น การเกิดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การคำนวณระยะเวลาเก็บเกี่ยวข้าวผิดพลาด ไม่สอดคล้องกับระยะเวลาน้ำหลากในพื้นที่ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ไม้ผล มะม่วง มะนาว ออกผลผลิตไม่พร้อมกัน ไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ มะม่วงต้นเดียวกันมีทั้งแตกใบอ่อน แตกช่อ เริ่มติดผล แต่ผลมะม่วงไม่สมบูรณ์ การเกิดโรคระบาดในไร่มันสำปะหลังอย่างรุนแรงในช่วงปีที่ร้อนและแล้ง ข้าววัชพืช (ข้าวดีดข้าวเด้ง) ระบาดหนักในนาข้าวภาคเหนือตอนล่าง ฯลฯ “การลดลงของอาหารธรรมชาติ” หน่อไม้ เห็ดโคน บริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่านที่เป็นรายได้ของคนในชุมชน อาหารจากสวนแบบดั้งเดิม คลอง แหล่งน้ำธรรมชาติ หลังจากประสบภาวะน้ำท่วมขัง ปี 2554 และ การสูญหายของเห็ด พืชบางชนิด การระบาดของหอยทากขนาดเล็กที่มีอย่างชุกชุม กัดกินผักสวนครัวที่ปลูกไว้บริโภคในครัวเรือนรุนแรงมากขึ้น บางพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้ง ปริมาณปลาลดลง ช่วงหาของป่าผัก หน่อไม้ สั้น   น้ำท่วมขัง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การ เปลี่ยนทางน้ำไหลบริเวณแม่น้ำปิง เกิดการกัดเซาะที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยที่มีเอกสารสิทธิ์ทำให้พื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยหายไป สร้างความยากลำบากต่อการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ลำน้ำปิงตอนล่าง นางสาวปวริศา บุญประสพ กรรมการเครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า “พื้นที่ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำปิงที่ถูกกัดเซาะและเกาะแก่งที่เป็นที่ทำกินบางส่วนหายไป ปัจจุบันมีมากกว่า 100 ครัวเรือน การกัดเซาะเกิดในหลายหมู่บ้าน เฉพาะตำบลท่าพุทรามีมากกว่า 50 ครัวเรือน” นี่คือคำยืนยันของคนในชุมชน วันนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 0.8 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และหากไม่มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ภายในปี 2100 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรม 4 องศา เซลเซียส อุณหภูมิที่สูงขึ้น ไม่ใช่เพียงตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของ ณ วันนี้ เดือนนี้ หรือปีนี้เท่านั้น แต่มันหมายถึงสภาพภูมิอากาศโดยรวมที่เปลี่ยนไป จนกระทบกับระบบนิเวศโดยรวมทั้งหมด และเป็นภัยคุกคามระยะยาว จากรายงานธนาคารโลก 4O Turn Down the Heat Why a 4 OC Warmer World Must be Avoided, มิถุนายน 2556 หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 4OC พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบ   รายงานธนาคารโลก  การ เกษตร ทรัพยากรน้ำ สุขภาพมนุษย์ ความหลากหลายทางชีวภาพและบริการทางนิเวศจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และอาจทำให้มีการย้ายถิ่นฐานของประชากรขนาดใหญ่และส่งผลต่อความมั่นคงของ มนุษย์ เศรษฐกิจ และระบบการค้า ภัยแล้ง (ช่วงเวลาที่ฝนไม่ตกยาวนานขึ้น) และความแห้งแล้ง (ปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอย่างถาวร) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศเขตร้อน ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 0.5 – 1 เมตร ภายในปี 2100 หรือ สูงกว่านั้น จุดอันตรายของระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นท่วมเมืองชายฝั่ง คือ ทะเลแคริบเบียน เวเนซูเอลา โมซัมบิก เกาะมาดากัสการ์ อินเดีย บังคลาเทศ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ภาวะคลื่นความร้อนรุนแรง ซึ่งจะเกิดขึ้นน้อยครั้งในหลายร้อยปี กำลังจะเกิดขึ้นเกือบจะทุกปีในหลายภูมิภาค เช่น เมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และบางส่วนของสหรัฐอเมริกา ภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดคือเขตร้อน เกาะเล็กเกาะน้อยหลายแห่งจะไม่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยได้อีกต่อไป ธนาคารโลก ยังได้ระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ร้อยละ 40 ของกรุงเทพมหานคร เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบแง่ลบอีกมากมายที่อาจเกิดขึ้น หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียส หรือ 3.6 องศาฟาเรนไฮต์ โดยจากการจำลองสถานการณ์ตามปกติในปัจจุบัน สภาพเช่นนี้มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นภายใน 2 ถึง 3 ทศวรรษข้างหน้า นี่ คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่เป็นสิ่งใกล้ตัวที่เกิดขึ้นกับชาวนา ชาวไร่ ไม่ใช่เรื่องที่แต่ละหน่วยงานต้องเพิกเฉยอีกต่อไป การจัดรณรงค์ ประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนโลกร้อน ความรู้ในการปรับตัว รับมือที่จะอยู่กับภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งจำเป็นและต้องแม่นยำ ข้อเสนอเชิงนโยบายที่รวบรวมจากรูปธรรมของชุมชนเพื่อปรับเปลี่ยนแผนนโยบายของ รัฐเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องเท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งรายงานทางวิชาการและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งความเชื่อของคนในชุมชน ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะรุนแรงขึ้น   การวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงจากความเปราะบาง จาก การแลกเปลี่ยนรวบรวมความเข้าใจโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ความอ่อนไหว ศักยภาพในการรับมือและความเปราะบางของชุมชนของมูลนิธิคนเพียงไพร ชุมชนเชื่อว่าโลกร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกี่ยวพันกัน แนวโน้มในอนาคตของภัยพิบัติจะมีความถี่ รุนแรงมากขึ้นและประเภทภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้น มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ปรากฏการณ์พายุงวงช้างในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก บางชุมชนในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมาเกิดภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติ 14 ครั้ง ทั้งแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่เดียว ความอ่อนไหวของชุมชนมีสูงมาก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ลดการพึ่งพาตนเองสู่การพึ่งพาภายนอก ทำให้ศักยภาพในการรับมือของคนในชุมชนต่ำ เช่น การอาศัยเมล็ดพันธุ์ข้าวจากภายนอก, การปลูกข้าวเพื่อจำหน่ายอย่างเดียวไม่เก็บข้าวไว้กินเอง การอาศัยอาหาร ผัก เนื้อสัตว์จากภายนอก การขาดแคลนน้ำสะอาด นี่คือความอ่อนไหวของคนในชุมชน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ชุมชนหันมาพึ่งตนเอง ซึ่งเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม ตามนโยบายกระแสหลักของโลก การปรับตัวการรับมือมีอย่างจำกัด การรับรู้ข้าวสารที่ไม่แม่นยำ เข้าใจยาก การร่วมวางแผน      ภัยพิบัติกับหน่วยงานองค์กรขาดการมีส่วนร่วมกับชุมชน ศักยภาพในการรับมือของชุมชนยังต่ำลง ทั้ง หมดนี้คือความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนในชุมชน ในขณะเดียวกัน วิถีชีวิต วัฒนธรรม การช่วยเหลือกันทั้งในระบบเครือญาติ การแบ่งปันอาหาร การให้ยืมเครื่องไม้เครื่องมือ เรือ คือศักยภาพบางส่วนที่ชุมชนสามารถรับมือเบื้องต้นได้ ซึ่งมีแนวโน้มความเข้มข้นลดลง   การประเมินความเปราะบาง 4 ชุมชนในจังหวัดพิษณุโลก แผนและนโยบายของรัฐต้องมีส่วนในการลดความอ่อนไหว สร้างศักยภาพในการรับมือโลกร้อนของชุมชน การทุ่มงบประมาณอย่างมหาศาล กรณี 3.5 แสน ล้าน ไม่เป็นการแก้ปัญหาของคนในชุมชน ยังจะเป็นการสร้างปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นและยังจะเป็นการทำลายศักยภาพในการ รับมือของคนในชุมชน วันนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมิได้ลดลง ภัยพิบัติทางธรรมชาตินับว่าจะรุนแรงขึ้น การ พัฒนาศักยภาพในการรับมือการคิดค้นแนวคิดแนวทาง “การปรับตัว” ที่เราจะอยู่ร่วมกันของคนในสังคมเพื่อให้โลกอยู่ คนรอด คือหนทางร่วมกันของคนในสังคม และ ผลักดันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐ เพื่อให้การปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวิถีชีวิตของคน ในสังคม วันนี้อุณหภูมิ 0.8 องศาเซลเซียส จนถึง 2 องศาเซลเซียส และกำลังจะเพิ่มเป็น 4 องศาเซลเซียส ความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ตั้งรับ ปรับตัว บนฐานความรู้ความเข้าใจ พัฒนารูปธรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทิศทาง นโยบายรัฐ และที่สำคัญ คน สังคม ต้องเข้าใจและรับรู้ร่วมกัน ว่านี่คือ ภัยคุกคามชีวิต สังคม โลก ที่สำคัญ ณ วันนี้   สาคร   สงมา CAN : Thailand มูลนิธิคนเพียงไพร

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม