เปิดใจ หยุดใส่ร้าย “สุรา”

911 01 Apr 2014

“เหล้า” หรือ “สุรา” ลองหลุดปากพูดขึ้นมา รับรองว่าจะต้องมีปฏิกิริยาอะไรสักอย่างกลับมาแน่ๆ ไม่ว่าจะจากบุคคลใดหรือใครก็ตามที่ร่วมได้ยินได้ฟัง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดกับใคร อยู่ในบริบทไหน เขาคนนั้นมีฐานะ ชนชั้น วิถีคิดแบบใด เป็นต้นว่า หากเราพูดกับบรรดาเพื่อนฝูงที่สนิทรักใคร่ ในบรรยากาศแบบสังคมเมือง พวกเขาย่อมจะจินตนาการไปแล้วถึงโอกาสที่จะได้พักผ่อนร่างกาย ได้คลายสมองอย่างเต็มที่ซะทีตามผับบาร์ หลังจากหน้าที่การงานอันหนักหน่วงที่เจอมาทั้งอาทิตย์ ยังไม่ต้องนับถึงการพบปะเพื่อติดต่อธุรกิจการค้าของพวกนายหน้า นายทุน ชนชั้นกลาง หรือนักการเมืองทั้งหลาย ที่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีเหล้าเข้าไปเป็นส่วนประกอบในวงสนทนานั้น ส่วนความโก้หรูของเหล้าจะมีมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นไปตามระดับชนชั้นทางสังคมของกลุ่มคนสนทนา หรือถ้าจะให้ตรงประเด็นที่สุด หากนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนชนบทกับเหล้า เราย่อมมีภาพของยาดอง สาเก หรือสิ่งอื่นๆที่สุดแล้วแต่วิถีทางภูมิปัญญาของชาวบ้านจะสามารถผลิตได้ ก่อนจะตบท้ายด้วยภาพของการมีปากเสียง ตบตีทำร้ายร่างกาย จนถึงการเกิดบันดาลโทสะต่างๆที่มีภัยถึงชีวิตคล้ายกับละครเรื่องเดิมๆ ที่ไม่ต้องดูฉากจบ เราก็รู้ว่าผู้แต่งต้องการจะให้จบอย่างไร ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า… ปัญหาความรุนแรงจะหมดไปได้ในสังคม ก็ต่อเมื่อสุราต้องหมดไปจากโลกนี้ก่อน สิ่งนี้ถูกต้องที่สุดแล้วจริงหรือ? ก่อน จะเกิดประเด็นให้น่าคิดต่อว่า หากที่ผ่านมาสุราให้เพียงแต่โทษ ไม่สามารถให้คุณกับมนุษย์ได้เลย แล้วมันยังคงอยู่ชนิดเคียงบ่าเคียงไหล่มนุษย์ทุกยุค ทุกวัยมาได้อย่างไร จนถึงปัจจุบัน ซึ่ง หากอ้างอิงจากคำนิยามของศาสตร์ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แท้จริงแล้ว “เหล้า” ก็ถูกวางอยู่ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมหนึ่งทางสังคม ไม่ต่างจากวัฒนธรรมการไหว้ หรือ การละเล่นสงกรานต์ เพียงแต่เหล้าเป็นวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ เพราะวัฒนธรรมก็คือสิ่งใดๆก็ตามที่คนในสังคมนั้นเห็นว่ามีประโยชน์ จึงร่วมกันแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และส่งผ่านต่อกันระหว่างรุ่น จนเป็นธรรมเนียมที่ยอมรับซึ่งกันและนำไปสู่การเกิดแบบแผน ในขณะเดียวกัน หากสิ่งนั้นๆ ไม่สามารถคงอยู่ได้ในสังคม โดยอาจจะขัดกับวิถีปฏิบัติเดิมของคนโดยทั่วไป หรือคนโดยส่วนใหญ่พึงเห็นแล้วว่าไม่เหมาะสมพอ สิ่งนั้นย่อมสามารถถูกยกเลิกและเลือนหายไปจากสังคมได้เช่นกัน เช่นเดียวกันกับสังคมบริโภคนิยมอย่างทุกวันนี้ ที่เราๆท่านๆ นิยมบริโภคทุกอย่าง ตั้งแต่สิ่งที่หยิบมาบริโภคใส่ปากได้ จนถึงชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่หาซื้อไม่ได้ แต่ก็ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ดี ดัง นั้น “เหล้า” จึงเป็นเสมือนภาพตัวแทน และถูกเลือกให้เป็นทางออกของคนทุกชนชั้น แม้ว่าจะมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันออกไปยิบย่อยก็ตาม คนรวยเลือกดื่มวอดก้า (Vodka) ราคาเหยียบแสน เพียงเพราะเรื่องของศักดิ์ศรี หน้าตาเพราะเชื่อว่ามันสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้ตนดูดีมีภูมิฐานได้จริง จะต่างอะไรกับเหตุผลของคนจน ที่เลือกดื่มม้ากระทืบโรงราคาแสนถูก เพียงเพราะเชื่อว่ามันจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาชีวิตที่กลัดกลุ้มรุมเร้าได้ ในที่สุด สิ่งนี้กำลังแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเชื่อในศักยภาพของเหล้า สมกับที่ “เหล้า” ก็ทำหน้าที่จรรโลงความคิด ความรู้สึกและเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของพวกเขาได้ดีไม่แพ้กัน ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงเชื่อว่า ทุกวันนี้สังคมไทยกำลังหลงประเด็น … ซึ่ง แม้ดิฉันเองจะไม่ปฏิเสธว่าสารประกอบในเหล้าต่างก็มีผลต่อการควบคุมและสั่ง การของสมองจริง แต่ก็ไม่เชื่ออย่างแน่นอนว่า ปมปัญหาทั้งหมดในยามที่เกิดเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง ทั้งในระดับครอบครัวจนถึงชุมชน ทั้งที่เป็นพฤติกรรมที่มุ่งทำร้ายทางร่างกายหรือจิตใจ ล้วนแต่เป็นเพราะฤทธิ์ของน้ำเหล้าทั้งสิ้นเพราะมันดูบ้องตื้นและไม่ให้ความ ชอบธรรมกับเหล้าจนเกินไป ที่เราเองในฐานะผู้สร้างมันขึ้นมาจะไม่สำเหนียกตนเองเลยว่า คนดื่มนั่นแหละที่กำลังมีปัญหา ไม่ใช่เหล้า! ดัง นั้น คนที่จะสามารถดื่มเหล้าได้ ก็คือคนที่รู้จักดื่มเหล้าเป็น นอกเหนือจากการควบคุมโดยกฎหมายในเรื่องของอายุ หรือตามร้านสถานประกอบการต่างๆแล้ว บุคคลเหล่านี้จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองเป็นอย่างดี คือรู้ว่าตนดื่มได้ในระดับไหน และในระดับใดที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตน นั่นคือสามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ภายใต้ความมีสติสัมปชัญญะ พูดง่ายๆคือ รู้จักว่าดื่มอย่างไรให้มีความสุข ไม่ใช่เพื่อสร้างความทุกข์ แล้วโยนขี้ให้เหล้าตามเคย ที่ กล่าวมานี้ไม่ได้มีเจตนาจะสวนกระแสสังคม และชักชวนให้คนดื่มเหล้ากันเอาเป็นเอาตายเพื่อคลายปัญหาชีวิตแต่อย่างใด เพียงแต่เชื่อว่าตราบใดที่ “เหล้า” ยังสามารถทำให้ชีวิตมนุษย์ครื้นเครงได้ในยามที่ใจอ่อนแอ และยังสร้างความสนิทสนมกลมเกลียวใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้ในสังคม ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปเบียดขับมันให้หายไปพร้อมข้อครหาอันหนักอึ้ง และคงจะดีกว่านี้หากเราจะใช้เวลาที่เหลือ ทำความรู้จักกับมันซะใหม่ ปรับทัศนคติของเราให้ฉลาดพอที่จะใช้มันในขอบเขตที่เหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา และหาทางสมานฉันท์กับมันให้ได้ในที่สุด. วีนัส อยู่ดี ทีมงานไทยเอ็นจีโอ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม