กสทช. ขอให้ สตช. เร่งรัดตรวจจับสถานีวิทยุที่โฆษณาสินค้าสุขภาพและความงาม อย่างผิดกฎหมาย

876 07 Jun 2013

กสทช. ขอให้ สตช. เร่งรัดตรวจจับสถานีวิทยุที่โฆษณาสินค้าสุขภาพและความงาม อย่างผิดกฎหมาย จากผลการศึกษาของ มีเดียมอนิเตอร์ และ กพย. ชี้ชัดโฆษณาหลอกลวงให้ประชาชนอยู่ในภาวะเสี่ยง   “การศึกษาวิเคราะห์ สปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทางวิทยุกระจายเสียงที่ปรากฏในเว็บไซต์” การ ศึกษาล่าสุดที่ โครงการมีเดียมอนิเตอร์ ดำเนินการร่วมกับ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ชัดว่า สปอตโฆษณายาและอาหารที่สุ่มเลือกมาศึกษานั้น เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะทำการเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจาก อย. ทั้งยังมีความผิดในเนื้อหาการโฆษณาด้วย สำหรับการโฆษณายา จากหน่วยการศึกษา คือ 26 ชิ้นสปอตของ 18 ผลิตภัณฑ์ ความ ผิดที่พบมากที่สุด คือ การโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด รองลงมา คือ การแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง นอกนั้นเป็นความผิดอื่น เช่น การขายยาโดยไม่สุภาพ หรือโดยการร้องรำทำเพลง หรือแสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย การทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกามหรือยาคุมกำเนิด การแสดงสรรพคุณยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ การรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น การโฆษณาว่า สามารถบำบัดบรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค หรืออาการของโรคที่ประกาศตามมาตรา 77 ของ พ.ร.บ.พ.ศ.2510 ได้แก่ โรคเบาหวาน มะเร็ง อัมพาต วัณโรค โรคเรื้อน โรคหรืออาการของโรคของสมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต ด้านการโฆษณาอาหาร จาก 41 ชิ้นสปอตของ 30 ผลิตภัณฑ์ที่ศึกษา พบว่า เกือบทั้งหมด (29 ผลิตภัณฑ์) มีการนำเสนอข้อความโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ เป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร โดยเฉพาะ การโฆษณาในลักษณะสรรพคุณทางยา เมื่อ วิเคราะห์ในถ้อยคำของสปอตโฆษณายาและอาหาร พบว่า มีทั้งการใช้และการผลิตซ้ำค่านิยม เช่น การใช้สำนวนเชิงคุณค่าที่คุ้นชิน ตัวอย่าง “ดูสวยใส เปล่งปลั่ง หน้าตามีราศีขึ้นเยอะ” “ผิวพรรณสวยงามมีน้ำมีนวล” “ทำให้หน้าใสมีเลือดฝาด” การสร้างคำเชิงค่านิยมใหม่ เช่น “ขาวเด้งเปล่งออร่ากว่าใคร” “หุ่นฟิตเฟิร์ม” “ฟิตกระชับ หุ่นเฟิร์ม” “หุ่นเซี๊ย” ที่สำคัญพบว่า มีการผลิตซ้ำค่านิยมทางเพศ และ ความสัมพันธ์ของหญิง-ชาย โดยเน้นการสร้างความสนใจ หรือ ความกังวล เช่น “มั่นใจไร้กลิ่น” “ภายในกระชับดับกลิ่น” “สำหรับคุณผู้ชายที่มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ล่มปากอ่าว” กับการสร้างและชี้สู่ผลที่พึงประสงค์ เช่น “สามีรักสามีหลงไปไหนไม่รอด” “ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน” “เพิ่มความเป็นชายได้ทุกสนาม” ทั้งยังมีการอ้างอิงธรรมชาติ เช่น “ผลิตจากยาสมุนไพรตำรับดั้งเดิม” “สกัดจากธรรมชาติ” และ การกล่าวอ้างข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น “ไม่มีสเตียรอยด์ล้านเปอร์เซ็นต์” “ช่วยต้านอนุมูลอิสระ” ทั้ง นี้ สปอตโฆษณาจำนวนไม่น้อยระบุสรรพคุณหลากหลายในลักษณะครอบจักรวาล ทั้งยังพบการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ให้สื่อถึงสรรพคุณยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ ข้อ ค้นพบจากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า สปอตโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง ที่ไม่ผ่านการตรวจและอนุญาตจาก อย. มักมีการใช้ถ้อยคำที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือเป็นเท็จ ใช้การโน้มน้าวใจให้หลงเชื่อ อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกัน การศึกษาครั้งนี้ก็พบว่า สาระในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องถ้อยคำและภาษา มีการกำหนดไว้อย่างกว้าง ซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการตีความ ทั้งโดยผู้กำกับดูแลการโฆษณา และโดยผู้ผลิตสื่อโฆษณา อีกทั้ง สาระสำคัญในกฎหมายยังไม่เท่าทันการใช้ภาษาของธุรกิจการค้าและการโฆษณาที่ขาดความรับผิดชอบ อีกด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ เรื่อง สินค้า/บริการด้านสุขภาพและความงามในทีวีดาวเทียม เมื่อช่วงปลายปี 2554 พบว่า การโฆษณาสินค้า/บริการด้านสุขภาพและความงาม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ ยังคงมีการนำเสนอที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น รักษาหายทุกโรคราวปาฏิหาริย์ สามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้อย่างมหัศจรรย์ โฆษณาสรรพคุณอาหารอย่างเป็นยา ใช้ถ้อยคำที่ผลิตซ้ำค่านิยมทางเพศ โดยเพศหญิง ถูกนำเสนอในความหมายเชิงรูปลักษณ์ให้ดึงดูดความสนใจทางเพศ เช่น ผิวขาวอมชมพู สดใสเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ไร้ริ้วรอย อกโตเต่งตึง รูปร่างผอมเพรียวฟิตกระชับ ส่วนเพศชายถูกนำเสนออย่างเน้นให้สนใจและให้ความสำคัญในสมรรถภาพทางเพศ   น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ วิทยุ-โทรทัศน์ กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของ กสทช. คือ เตือน -ปรับ -ยึดใบอนุญาต กรณีพบผู้ประกอบการสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ที่ไม่ได้รับการอนุญาต ต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ อันตรายต่อประชาชนผู้บริโภคที่หลงเชื่อโฆษณาที่ผิดกฎหมาย อันอาจทำให้ประชาชน เสียรู้-เสียทรัพย์-เสียสุขภาพ ถึง เสียชีวิต ตามที่ มีเดียมอนิเตอร์ และ กพย.ห่วงใย “ใน เร็ววันนี้ คงต้องไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช.เพื่อขอให้เร่งรัดจัดการผู้ประกอบการสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ที่ผิดกฎหมาย โดยเร่งด่วน เพื่อปกป้องประชาชนจากความเสี่ยงดังกล่าว “ (ค้นหา รายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ศึกษา ไฟล์เสียงสปอตโฆษณา บทสปอตโฆษณาและการวิเคราะห์ในมิติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ http://www.mediamonitorth.co.th)

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม